ม.หอการค้าฯ เผยแรงงานไทยหนี้พุ่ง 1.17 แสนบาท/ครัวเรือน เหตุ ศก.แย่-โอทีหด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยหนี้สินแรงงานไทยพุ่ง 1.17 แสนบาทต่อครัวเรือน เหตุเศรษฐกิจไม่ดีทำรายได้-โอทีหด แต่ส่วนใหญ่ยังใช้หนี้ได้เพราะกู้แหล่งอื่นมาโปะ ขณะที่แรงงานขอเงินค่าแรงเป็น 491 บาต่อวันใน 3 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยในปี 58 ว่า ภาระหนี้ครัวเรือนแรงงานไทยในปี 58 อยู่ที่ 117,839.9 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 10.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้จากการทำงานล่วงเวลา(โอที) ลดลงหรือไม่มี และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนใช้บริการเงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบมากขึ้น เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและกู้เงินมาใช้หนี้เดิม

สำหรับหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 117,839.9 บาทนั้น จะมีการชำระหนี้เดือนละ 7,377.96 บาท แบ่งเป็น การกู้ในระบบ 40.4% หรือชำระหนี้เฉลี่ยเดือนละ 5,639.44 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ย 4.3% และ กู้นอกระบบสัดส่วน 59.6% มีการผ่อนชำระ 8,245.45 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ย 17.9 % ต่อเดือน ส่วนวัตถุประสงค์ในการกู้เงินส่วนใหญ่ 31% นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา 19.8% ใช้คืนเงินกู้, 15.3% ค่าที่อยู่อาศัย, 14.7% ค่ายานพาหนะ, 5.9% ค่าลงทุน, 3.2% ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆอีก 0.4%

แนวทางในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบคือ รัฐบาลต้องเร่งนโยบายนาโนไฟแนนซ์ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก รวมถึงต้องเร่งกระตุ้นการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ และ การลงทุนตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น เป็นต้น

ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าในปีนี้แรงงานไทยมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ถึง 81.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 2-3 เดือน เพราะเงินหมุนไม่ทัน, รายได้ไม่แน่นอน,เงินไม่พอจ่าย และหนี้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้ได้ เพราะกู้เงินจากแหล่งอื่น การยืมเพื่อน หรือญาติพี่น้องมาจ่ายหนี้เดิม เป็นต้น

ส่วนการใช้จ่ายในวันแรงงาน พบว่า ในปี 58 จะมีมูลค่า 1,999 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.72% ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว, การสังสรรค์, เที่ยวห้าง, ทำบุญ, ดูหนัง, กลับบ้านต่างจังหวัด, ไปสวนสนุก, ไปสถานที่จัดงานวันแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่ยังมองว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกเป็นเฉลี่ยวันละ 398 บาท จากปัจจุบันวันละ 300 บาท ส่วนในอีก 3 ปีข้างหน้าควรปรับเพิ่มเป็น 491 บาท และ อีก 5 ปีข้างหน้าควรเพิ่มเป็น 561 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ แต่เมื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว หากาคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นกว่าปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่คงไม่สามารถรับได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ