ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายหวังจูงใจแรงซื้อ-ชะลอแรงขายดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2015 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนในรอบนี้ เป็นชุดเครื่องมือและมาตรการที่ค่อนข้างเป็นมิตรกับตลาด เพราะน่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดทางและจูงใจให้มีแรงซื้อเงินดอลลร์จากในประเทศ ตามแนวทางการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของบุคคลในประเทศ พร้อมกับชะลอแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ(NR) ตามมาตรการผ่อนคลายการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของ NR มากกว่าที่จะผลักดันให้เงินบาทกลับไปอ่อนค่าผ่านผลของการกลับทิศ (ไหลออก) อย่างฉับพลันทันทีของกระแสเงินทุนต่างชาติ อาทิ มาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน

มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการคลายเกณฑ์เคลื่อนย้ายเงินทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ธปท. ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนเชิงนโยบายการเงินมาสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากในช่วงหลังจากนี้ สถานการณ์ของภาคการส่งออก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม ยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่อ่อนแอและล่าช้า ก็อาจทำให้ธปท. ยังคงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ดี หากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้น ความจำเป็นที่ธปท. จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีกก็คงจะหมดไป

ทั้งนี้ แม้เงินบาทจะปรับตัวในกรอบที่อ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 32.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังการส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินของ ธปท.ในช่วงนี้ แต่คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของเงินบาทยังคงเสียเปรียบสกุลเงินของคู่แข่งอื่นๆ อาทิ รูเปียห์อินโดนีเซีย เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินด่องของเวียดนาม แต่คงไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้เงินบาทอ่อนค่าในสัดส่วนเดียวกันกับสกุลเงินเหล่านั้น เพราะ ธปท.ยังคงมีโจทย์อื่นๆ ที่จะต้องคำนึงถึงเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการคงต้องดูแลตัวเองในเรื่องต้นทุนการผลิต ปรับกลยุทธ์เพื่อประคองมาร์จิ้น ควบคู่ไปกับการเร่งแก้โจทย์ความสามารถในการแข่งขัน ขยายการทำตลาดในภูมิภาคที่มีศักยภาพ ตลอดจนยกระดับเทคโนโลยีในภาคการผลิต เพื่อเอื้อให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สาระสำคัญของแนวทางผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินทุนสามารถสรุปออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ และ 2) ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ

สำหรับแนวทางผ่อนคลายการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศสำหรับบุคคลในประเทศ แบ่งเป็น มาตรการผ่อนคลายการแลกเปลี่ยนเงินของบุคคลในประเทศ ได้แก่ การฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงิน (สง.) ในประเทศ มีการขยายวงเงินให้บุคคลในประเทศซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อฝากกับ สง. ในประเทศได้โดยเสรี โดยมียอดคงค้างไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ฯ อาจช่วยชะลอแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้บางส่วน และการโอนเงินออกไปต่างประเทศ เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสิทธิในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศขยายวงเงินเป็น ไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์ฯ อาจช่วยเพิ่มแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ และเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้บางส่วน

ขณะที่ มาตรการเพิ่มช่องทางการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศให้กับบุคคลในประเทศ เพิ่มช่องทางให้บุคคลในประเทศสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ ทยอยผ่อนคลายให้บุคคลในประเทศที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดฝากเงินกับ สง. ในต่างประเทศ และลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ภายในวงเงินที่กำหนด โดยไม่ผ่านตัวกลางในประเทศ และการอนุญาตให้บุคคลในประเทศลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เสนอขายในประเทศที่เกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศ เช่น structured product สกุลเงินบาทที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวกับเงินบาท มองว่าช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรม และทางเลือกในการลงทุนในต่างประเทศ อาจช่วยเพิ่มแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ และเงินตราต่างประเทศอื่นๆ ได้บางส่วน

ส่วนมาตรการขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับลูกค้าภายใต้ขอบเขตการประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของศูนย์บริหารเงิน (Corporate treasury center) เช่น เกณฑ์การฝากเงินตราต่างประเทศ การกู้เงินบาทจากกลุ่มบริษัทในต่างประเทศ และการจัดเก็บเอกสารหลักฐาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทในเครือได้คล่องตัวขึ้น ผ่อนคลายคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจของตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money transfer agent) และบุคคลรับอนุญาต (Money changer): เช่น อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งขยายวงเงินการทำธุรกรรมของบุคคลรับอนุญาตกับลูกค้า เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรม

2) แนวทางการผ่อนคลายการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ได้มีการขยายวงเงินให้ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident: NR) กู้ยืมเงินบาทจากสถาบันการเงิน โดยไม่มีการค้าการลงทุนในประเทศไทย (Underlying) รองรับ เพิ่มเป็นไม่เกิน 600 ล้านบาท ต่อกลุ่ม NR ต่อสถาบันการเงินหนึ่งราย ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถกู้ยืมเงินบาทโดยตรง (Direct Loan) เพื่อลงทุนในประเทศไทย ยกเว้นเพื่ออสังหาริมทรัพย์และหลักทรัพย์ในประเทศไทย และผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน สามารถกู้ยืมเงินบาทโดยตรง (Direct Loan) เพื่อประโยชน์ในการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น วัตถุประสงค์เพื่อชะลอการนำเงินทุนเข้าประเทศ / ลดแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หรือเงินตราต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ