ทั้งนี้ CPI เดือนเม.ย. ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสาเหตุที่ CPI ในเดือนเม.ย.ยังคงลดเป็นผลสำคัญมาจากราคาเชื้อเพลิงและราคาสินค้าอาหารสดที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.58) ติดลบ 0.65%
สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 113.65 เพิ่มขึ้น 0.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนมี.ค.58 ตามการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ข้าวสารเจ้า ผักสดและผลไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักชี มะนาว ต้นหอม ขิง ผักกาดหอม ส้มเขียวหวาน และทุเรียน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรประเภทผักบางชนิดได้รับความเสียหาย ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และอาหารโทรสั่ง (delivery) ราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร ( น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม และผลไม้บางชนิด เช่น มะม่วง ฝรั่ง และชมพู่
ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 102.40 ลดลง 1.93% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.31% จากเดือนมี.ค.58 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกโดยเฉลี่ยภายในประเทศปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 และ ก๊าชยานพาหนะ (LPG) รวมทั้ง ก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลง สำหรับของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผม และกระดาษชำระ นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ มีราคาปรับลดลง ขณะที่ราคาค่าเช่าบ้าน บุหรี่ เบียร์ และสุรา มีราคาปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ในกรอบเดิมที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปีนี้ เติบโตได้ 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้