ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้เกิดการชะลอตัวในหลายประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา และน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ แต่ยืนยันว่ายังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนที่ไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้นคงต้องรอติดตามในช่วง 5-6 เดือนจากนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีปัจจัยที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย คือ ด้านการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดสภาพัฒน์ยืนยันว่าจีดีพีไตรมาส 1/58 จะสามารถเติบโตได้ราว 3%
ส่วนกรณีที่นายมิตซูฮิโร ฟูรูซาวา รองกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เดินทางมาเข้าพบเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่า เป็นการเข้าพบหลังจากเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งได้มีการหารือถึงภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ร่วมกัน โดยตนได้ชี้แจงถึงแผนการทำงานในระยะยาวของรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะมีระยะเวลาที่เหลืออีกประมาณ 1 ปี ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอให้เหมาะสมกับนักลงทุน 2.การสนับสนุนให้มีการตั้งบริษัทข้ามชาติ พร้อมให้สิทธิพิเศษทางภาษี 3.การปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมัน 4.การจัดเก็บภาษีตามฐานรายได้ที่เหมาะสม 5.เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทาง IMF แสดงความเห็นด้วยกับแผนในระยะยาวที่รัฐบาลได้วางไว้