โดยตั้งแต่ปี 59 จะเริ่มพัฒนาศักยภาพ ทั้งการรองรับเรือที่มีขนาดต่างๆและใหญ่ขึ้นเพื่อรับปริมาณตู้สินค้ามากขึ้น พัฒนาระบบไอทีให้ทันสมัย บริการสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย ขณะเดียวกันต้องพัฒนาท่าเรือสาขาใกล้เคียง เช่น ท่าเรือกรุงเทพ,มาบตาพุด, ระนอง ส่วนท่าเรือปากบาราจะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งเป็นโครงข่าย จ.สตูล ซึ่งในเดือน พ.ค.นี้ กรมเจ้าท่า(จท.) จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยได้รับงบทำการศึกษา 50 ล้านบาท แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน
สำหรับท่าเรือภูมิภาคนั้น ท่าเรือระนองมีการเติบโตมากขึ้น และเป็นท่าเรือสำคัญในการเชื่อมสู่พม่าและอินเดีย, ท่าเรือเชียงแสนมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน แต่ท่าเรือเชียงของมีตู้สินค้าลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบหลังเปิดใช้สะพานเชียงของ ซึ่ง กทท.จะต้องปรับปรุงการให้บริการเพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างไทย-ลาว
ทั้งนี้ กทท.จะต้องเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, โครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง(SRTO) วงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในปลายปี 59, ศึกษาแผนงานเพื่อเปิดให้เอกชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บริหารจัดการขนส่งทางเรือ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท โดยจะศึกษาจบภายใน 1 เดือน และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ในเดือน ก.ค.นี้
ด้าน พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานบอร์ด กทท.กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ กทท.คือเป็นฮับอินโดจีนใน 10 ปี ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ให้มากขึ้น พร้อมกันนี้จะต้องเร่งพัฒนาด้านบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโต ทั้งนี้จะเร่งการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โดยจะสรุปผลการศึกษาและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเดือน มิ.ย.นี้จากนั้นจะเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม และ คนร.พิจารณา โดย ทลฉ.เฟส 3 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 85,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 35,000 ล้านบาท และระบบการให้บริการที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นอีก 8-10 ล้านทีอียูต่อปี จากปัจจุบันที่เฟส 1 และเฟส 2 มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี
ส่วนท่าเรือเชียงของนั้นมีปริมาณตู้สินค้าลดลงมากเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ขนส่งข้ามสะพานเชียงของแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อฟื้นฟูให้มีสินค้ามาใช้มากขึ้น และหากไม่ดีขึ้นอาจจะเสนอปรับการให้บริการจากท่าเรือขนส่งสินค้าเป็นท่าเรือท่องเที่ยว โดยจะเสนอขอปรับบทบาทวัตถุประสงค์ของท่าเรือจากขนส่งสินค้าเป็นผู้โดยสาร ส่วนท่าเรือกรุงเทพนั้นจะมีการพัฒนาการให้บริการโดยก่อสร้างเป็นอาคารใหม่บริษัท เพื่อให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ(One Stop Service) ทั้งการออกสินค้าการชำระค่าบริการและบริการของศุลกากรซึ่งจะลดระยะเวลาในการติดต่อของผู้ใช้บริการจากปัจจุบัน 1 วัน เหลือเพียง 3 ชั่วโมง โดยจะดำเนินการบนพื้นที่ 11 ไร่อยู่ในเขตรั้วท่าเรือ โดยอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบวงเงิน 30 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 60
สำหรับผลประกอบ กทท.ในปี 2558 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 13,800 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,300 ล้านบาท สูงกว่าปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 5,171 ล้านบาทโดยในช่วง 2 ไตรมาส(ต.ค.57-มี.ค.58) มีกำไรสุทธิประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยปริมาณตู้สินค้าท่าเรือกรุงเทพเพิ่มขึ้น 2% ท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น 4%