ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 58 เหลือ 3.7% จากเดิมคาด 3.9% รวมทั้งปรับลดการส่งออกเหลือโต 0.2% จากเดิมคาดโต 1.4% นอกจากนี้การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.ยังติดลบ 4.45% ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ, ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าและความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาเหลือ 1.5% จะเป็นการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ ระบุว่า การบริโภคของประชาชนยังไม่น่าจะฟื้นตัวได้มากนักในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากประชาชนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารายังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน ทั้งนี้เชื่อว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้เด่นชัดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่มีสัญญาณดีขึ้น โดยทิศทางเศรษฐกิจขณะนี้เป็นทิศทางที่รอการฟื้นตัว แม้เศรษฐกิจมหภาคบางตัวเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว เช่น การนำเข้าวัตถุดิบ ยอดขายสินค้าบางประเภทที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนเริ่มฟื้น แต่จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเม.ย.นี้ แม้จะมีช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ แต่การจับจ่ายใช้สอยยังไม่คึกคักมาก เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การส่งออกยังไม่ฟื้น ซึ่งการท่องเที่ยวเพียงตัวเดียวคงไม่สามารถช่วยให้ความเชื่อมั่นฟื้นกลับมาได้
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังมีสัญญาณของการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้น สอดคล้องกับการสำรวจจากภาคแรงงานที่ยังรู้สึกว่าภาวะค่าครองชีพยังไม่ดีขึ้น แม้ราคาสินค้าจะถูกลง และผู้ผลิตยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ภาคแรงงานยังรู้สึกว่าเงินในกระเป๋ามีไม่มากพอที่จะจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สิ่งที่จะต้องจับตาในช่วงต่อไปนี้ คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนพ.ค.และมิ.ย. ซึ่งหากสัญญาณเงินเฟ้อยังมีการติดลบมากขึ้นในเดือนพ.ค.และมิ.ย. เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และพยุงให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยหนุนการส่งออกของไทยและส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยว อันจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มกลับมาฟื้นขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
"จากสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคชี้ให้เห็นว่า การบริโภคการค้าขายยังซึมตัวในไตรมาส 2 ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถพลิกเศรษฐกิจให้มีสัญญาณดีขึ้นอย่างเด่นชัดในมิ.ย. การบริโภคจะซึมต่อไปถึงไตรมาส 3 และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามเป้าที่เราอยากเห็นคือระดับ 3% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณจะฟื้นกลับมา ยังมีสัญญาณขาลงจากปัจจัยต่างๆ การจับจ่ายใช้สอยยังชะลอตัว" นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ระดับ 3.2% แต่สิ่งที่ยังสุ่มเสี่ยงคือ การส่งออกที่ยังมีโอกาสติดลบได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้การที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ในระดับ 3% ก็เริ่มจะมีน้อยลง และอาจจะเหลือโตแค่ 2.8-2.9% โดยปัจจุบันพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และอาจจะล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส ซึ่งจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นได้ปลายไตรมาส 2 อาจจะช้าไปเป็นปลายไตรมาส 3 อันจะมีผลต่อการส่งออกของไทยให้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
"สิ่งที่จะสามารถทำได้ดีที่สุดในระยะสั้น คือ การทำให้เงินบาทวิ่งอยู่ที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัวได้ดีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น และหากธปท.จะลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ก็จะกระตุ้นให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนในขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐยังทำได้ไม่เต็มที่ นี่คือวิธีที่เร็วที่สุด และหวังว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่าย แต่ถ้าไม่เป็นไปตามแผน ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตต่ำกว่า 3% แต่ตอนนี้เรายังให้ความน่าจะเป็นไว้ที่ 30%" นายธนวรรธน์ กล่าว