“ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเป็นไปตามความเหมาะสมของมาตราการที่ออกมา ซึ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี จากนี้ก็ยังต้องติดตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ว่าจะส่งต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ชะลอตัวลงกว่าที่คาด เป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ลดลง ซึ่งเป็นทุกประเทศทั่วโลก สะท้อนได้จากปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลง ขณะที่ประเทศต่างๆ เน้นการบริโภคในประเทศทดแทนการนำเข้ามากขึ้น และภาคการส่งออกที่ชะลอตัวของไทยก็ส่งผลต่อการบริโภคในประเทศให้ชะลอลงตามไปด้วย แม้ว่าช่วงไตรมาสแรกภาคการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐยังขยายตัวได้ดี แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้ จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว
ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยจะไม่กลับไปขยายตัวได้เหมือนเดิม และต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก มาจากปัจจัยภายนอกที่ประเทศต่างๆ เน้น Supply Chain ในประเทศมากขึ้น และปัจจัยในประเทศ ที่ราคาสินค้าภาคการเกษตรปรับตัวลดลง แต่จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับการปรับตัว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของ ธปท.จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้อีก เพราะจะสร้างสมดุลให้กับตลาดการเงินมากขึ้น
"การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลดีกับภาคการส่งออกของไทย แต่จะดีขึ้นมากแค่ไหนต้องดูเรื่องเศรษฐกิจประกอบด้วย...รัฐบาลหวังพึ่งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยดีขึ้นมากกว่าพึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ซึ่งเมื่อมีการเซ็นอนุมัติมาตรการที่ ธปท. ออกมาทั้งหมด เชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้มากกว่าที่เป็นปัจจุบัน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว