ขณะที่ในปีการเพาะปลูก 2557/58 รัฐบาลได้จำกัดพื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เหลือ 6 ล้านไร่ คาดการณ์ผลผลิตที่จะได้ประมาณ 3.6 ล้านตัน ทั้งนี้ หากมีนโยบายรับจำนำข้าว รัฐจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนจำนวน 54,000 ล้านบาท ผลจากการลดพื้นที่การปลูกดังกล่าวทำให้รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณดังกล่าวได้ จำนวน 89,280 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ในปีการเพาะปลูก 2557/58 พบว่า เกษตรกรทำนาปรังทั้งสิ้น 6.34 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่วางไว้ 2.07 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตส่วนเกินจากแผนที่ตั้งไว้จำนวน 3.8 ล้านตัน ทั้งนี้หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายรับจำนวนข้าวจะทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มจำนวน 57,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ การที่เกษตรกรยังคงปลูกข้าวนาปรังในปีการเพาะปลูก 2557/58 ทั้งที่รัฐประกาศมาตรการงดการส่งน้ำส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตเพียงร้อยละ 37.13 เทียบกับผลผลิตในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียจากการลงทุนของเกษตรกรเป็นเม็ดเงินจำนวน 22,625.9 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบจากกรณีขอความร่วมมือลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้วิเคราะห์ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยพบว่า รายได้เฉลี่ยจากการทำนาปรังลดลงครัวเรือนละ 70,268 บาท จะทำให้รายได้จากการทำนาปรังของครัวเรือนเกษตรทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองลดลงรวม 27,462 ล้านบาท และจะทำให้การบริโภคของครัวเรือนเกษตรลดลง 25,631 ล้านบาท (ภายใต้ข้อสมมติความโน้มเอียงในการใช้จ่ายหน่วยสุดท้าย (Marginal propensity to spend)= 0.9333 จากการลงพื้นที่ภาคสนาม) ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ลดลงเป็นมูลค่าโดยรวม 58,539 ล้านบาท แต่หากเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในโครงการ 1 ตำบล 1 ล้านบาท จำนวน 3,052 ล้านบาท การจ้างงานในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 399.5 ล้านบาท และการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชที่แจก จำนวน 222.5 ล้านบาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 3,674 ล้านบาท จะทำให้รายได้จากการทำนาปรังสุทธิลดลง 23,788 ล้านบาท และการบริโภคของครัวเรือนลดลงเท่ากับ 22,202 ล้านบาท และจะส่งผลให้ GDP ลดลง 50,707 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบจากการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่มีต่อครัวเรือนเกษตรกร ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการสำรวจภาคสนามในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยทำการสัมภาษณ์เกษตรกร จำนวน 281 ราย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี และนครปฐม โดยเก็บข้อมูลเกษตรกรจำนวน 43, 62, 130 และ 46 ราย ตามลำดับ
ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรทั้ง 4 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 8,725 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาปรัง 7,644 ไร่ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87.61 ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนใหญ่เกษตรกรที่สัมภาษณ์มีที่ดินเป็นของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 37.7 ของเกษตรกรที่สัมภาษณ์ ส่วนเกษตรกรที่เช่าที่ดิน มีค่าเช่าที่ดินเฉลี่ยไร่ละ 618 บาท
จากกรณีขอความร่วมมือลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรร้อยละ 69 งดการปลูกนาปรังทั้งหมด โดยร้อยละ 8 งดทำนาปรังบางส่วน และร้อยละ 23 ยังคงทำนาปรังในปริมาณเท่าเดิม โดยเกษตรกรที่งดทำนาปรังทั้งหมดให้เหตุผลว่าปริมาณน้ำในการเพาะปลูกไม่เพียงพอ อันจะก่อให้เกิดผลเสียจากการปลูกนาปรัง ในขณะที่เกษตรกรที่ยังคงทำนาปรังคาดการณ์ว่าจะได้รับน้ำจากชลประทานและพึ่งพาน้ำฝน
ในด้านความช่วยเหลือของภาครัฐ พบว่า มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 23.13 ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช ร้อยละ 38.46 ด้านโครงการ 1 ล้านบาท 1 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 36.92 การจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 12.31 และอื่น ๆ (ด้านปศุสัตว์ แหล่งน้ำ ฝึกอาชีพ) คิดเป็นร้อยละ 12.31 อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่ทำการศึกษา พบว่า การขาดแคลนน้ำทำให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ด้านข้อเสนอแนะ ได้แก่ ควรจัดสรรความช่วยเหลือควรครอบคลุมกับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงต้นทุนที่สูญเสียไปจากการปลูกข้าวนาปรังในช่วงภัยแล้งรวมทั้งการสร้างอาชีพนอกภาคการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนมีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ