โดยในเรื่องการโอนสิทธิ์ที่ดินเพื่อชำระหนี้ให้กระทรวงการคลังนั้น จะนำร่องก่อนในที่ดินแปลงมักกะสันจำนวน 497 ไร่ โดยคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์เข้ามาร่วมกับร.ฟ.ท.ในการจ้างที่ปรึกษาประเมินราคาที่ดินและค่าเสียโอกาส ซึ่งได้พิจารณาวางผังในการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.พิพิธภัณฑ์การรถไฟ หรือขนส่งทางราง เนื้อที่ 30 ไร 2. พื้นที่สวน ประกอบด้วยบึงมักกะสัน เลนจักรยาน และพื้นที่สีเขียว เนื้อที่ 150 ไร่ 3.พื้นที่พาณิชย์ 140 ไร่ รวมกับลานจอดรถ และถนนเข้าออก โดยจะสรุปในเดือนมิ.ยนี้ ส่วนที่เหลือ 170 ไร่ จะพัฒนาในเฟส 2 จัดทำให้ครบที่มีกิจการเดิม ทั้งที่พัก สถานพยาบาล จะทบทวนว่าจะสร้างทีเดิมหรือย้ายออกไป
ส่วนแนวทางการให้เอกชนร่วมงานหรือร่วมลงทุนกับรถไฟนั้น ซึ่งมีโครงการรถไฟสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งมอบหมายให้ร.ฟ.ท.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ร่วมกันพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะเร่งพิจารณาการดำเนินงานรถไฟฟ้า 9 ขบวนเดิมและจัดหาเพิ่มอีก 7 ขบวน ว่าจะให้เอกชนเข้ามาร่วมได้อย่างไร รวมถึงเส้นทางส่วนต่อขยาย พญาไท-ดอนเมือง ว่าควรจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ทั้งงานโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถหรือไม่
ส่วนงานด้านกำกับดูแลโครงการที่สำคัญ มีความคืบหน้ารถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง คือ 1. เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งได้มีการปรับราคากลางเรียบร้อยแล้วรอประกวดราคา คาดได้ผู้รับเหมาในเดือนก.ค.นี้ 2.เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว และจะเร่งสรุปแหล่งเงินลงทุน ในก.ค.นี้ โดยใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี 3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม(EIA) อนุมัติแล้ว จะเร่งดำเนินการสรุปเสนอครม.ในช่วงก.ค.-ส.ค.นี้ 4.ลพบุรี-ปากน้ำโพ 5.มาบกะเบา-จิระ และ 6.นครปฐม-หัวหิน อยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน
สำหรับกรมการขนส่งทางรางจะรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดนโยบายและกำกับดูแล ซึ่งจะประชุมสรุปในปลายเดือนพ.ค.และสรุปจัดตั้งได้ในก.ย.นี้ ส่วนร.ฟ.ท.รับผิดชอบงานเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งจะประชุมสรุปในปลายเดือนพ.ค.และสรุปจัดตั้งได้ในก.ย.นี้ โดยนโยบายนั้นต้องการให้ร.ฟ.ท.ทำหน้าที่ในการเดินรถ ส่วนการซ่อมบำรุงเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทั้งแบบการทำสัญญาซ่อมบำรุงโดยตรง หรือให้เอกชนมาร่วมในเรื่องการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสม รวมไปถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย
พร้อมกันนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องพัฒนาบุคลากรที่มีในปัจจุบัน 14,000 คน เพิ่มขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการบริการในภาพรวมที่เกี่ยวกับรางขนาด 1 เมตรที่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น และรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตรที่จะก่อสร้างเพิ่ม รวมถึงพัฒนาโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ และมหาวิทยาลัยที่มีการสอบด้านระบบขนส่งทางราง
อย่างไรก็ดี ตามแผนงานจะมีการจัดหาหัวรถจักร โบกี้เพิ่ม และเตรียมแผนเปลี่ยนรถจักรดีเซลเป็นรถไฟฟ้าภายในปี 2575 แก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ และเพิ่มบริการติดตั้ง CCTV ปรับปรุงห้องน้ำ เพิ่มที่นั่งคนพิการจาก 5 ที่นั่งเป็น 10 ที่นั่งต่อโบกี้, ปรับปรุง 12 สถานีเป็น IT Service ภายในสิ้นปี 2558 กำหนด KPI ในการเดินรถ เช่นกรุงเทพ-เชียงใหม่ จาก 14 ชม. เหลือไม่เกิน 13 ชม. หรือเฉลี่ยทุกเส้นทางเร็วขึ้น 1.30 ชม.