2.การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะเทศบาลพระนครศรีอยุธยา โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีศึกษาออกแบบ และจ้างบริษัทเอกชนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า 2 ลักษณะ โดยงบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีขยะเชื้อเพลิง คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2559 วงเงินดำเนินการ 380 ล้านบาท และการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีการเผา เพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 3,800 กิโลวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2560 วงเงินดำเนินการ 635 ล้านบาท
“เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือเป็นจังหวัดที่มีปัญหาขยะขั้นวิกฤต ดั้งนั้นการดำเนินการโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยนี้ จะถือเป็น “ต้นแบบ" ที่ดีในการจัดการขยะอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ และการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ ที่สามารถจัดทำเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย เป็นศูนย์กลางในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานได้"
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย โดยพิจารณาจากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวัน ขนาดพื้นที่ในการจัดการขยะ ระยะห่างจากเสาไฟฟ้าแรงสูง และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พบว่ามีจำนวน 24 จังหวัด ที่มีพื้นที่ศักยภาพเพียงพอสำหรับใช้เป็นศูนย์ในการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ สงขลา ภูเก็ต กระบี่ นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม เลย ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ยะลา เชียงใหม่ นครพนม และพัทลุง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ จังหวัดภูเก็ตกับสงขลา อยู่ในระหว่างก่อสร้าง 3 แห่ง คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และพัทลุง ลงนามข้อตกลงก่อสร้างแล้ว 3 แห่ง คือ อยุธยา พิษณุโลก และระยอง และอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้อีก 1 แห่ง คือ ที่ลำพูน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่ผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะให้ได้ไม่ต่ำกว่า 15 โรงภายในปี 2558 เป็นไปตามโรดแมพของการจัดการขยะมูลฝอยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)