ทั้งนี้ การกำหนดราคายาต้องรอให้คณะกรรมการยาแห่งชาติ ที่มีนายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาก่อน จากนั้นกรมฯจะนำผลสรุปเสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกกร.กำหนดมาตรการและราคายา ตามที่คณะกรรมการยาฯเสนอมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ทันที เพราะยาเป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 อยู่แล้ว
ส่วนค่าบริการรักษาพยาบาล ซึ่งยังไม่ได้เป็นบริการควบคุมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ต้องรอให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือเสนอให้กระทรวงพาณิชย์นำค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์เป็นบริการควบคุม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าจะตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณากำหนดค่ารักษาพยาบาลก่อน และเมื่อกกร.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและออกประกาศบังคับใช้ได้ทันที ซึ่งค่าบริการรักษาพยาบาลดังกล่าวอาจแบ่งเป็นค่าบริการรักษาพยาบาลทั่วไป และค่าบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
สำหรับมาตรการทางกฎหมายที่จะใช้ดูแลราคายาและค่ารักษาพยาบาลตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สามารถกำหนดได้หลายมาตรการ เช่น กำหนดราคาสูงสุด กำหนดผลกำไรต่อหน่วยของสินค้าและบริการชนิดนั้น กำหนดพื้นที่และระยะเวลาในการควบคุมราคา ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าการกำหนดกำไรต่อหน่วยน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด เพราะต้นทุนของยาแต่ละชนิดและค่ารักษาพยาบาลแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน การกำหนดราคาเพดานคงเป็นไปได้ยากกว่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กำหนดให้ยารักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่าย หรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้า หรือบริการปิดป้ายแสดงราคายาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน เวชภัณฑ์ และบริการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท