โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอนาคตนั้น อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาไฟฟ้าตก-ดับในพื้นที่ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิง เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงด้วย เพราะขณะนี้โรงไฟฟ้าในภาคใต้ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก หรือคิดเป็น 75% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ล่าสุดโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกระบี่ อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)คาดว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือนก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้หากเป็นตามแผนการก่อสร้างจะเริ่มภายในต้นปี 59 ตามกำหนดจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 62
ขณะที่เช้านี้กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้เปิดแถลงข่าว"ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน" ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาในช่วงเช้า โดยเห็นว่าชายฝั่งทะเลอันดามันกำลังถูกคุกคามจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 23% หรืออีกนัยหนึ่ง จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ราว 9-11 โครงการ ส่วนใหญ่ทำเลที่ตั้งคือแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้หนึ่งในนั้น คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินที่จ"กระบี่ ซึ่งจะกระทบต่อการท่องเที่ยวมูลค่า 3 แสนล้านบาทของทะเลอันดามัน พร้อมกันนี้ยังจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วง 14.00 น.ด้วย