"ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของเราอ่อนค่าลง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป" นายอาคม ระบุ
อย่างไรก็ดี มองว่าในปี 58 ภาคการส่งออกอาจจะยังไม่ได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่นักจากเศรษฐกิจภายนอก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างสินค้า ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบให้มีความทันสมัยมากขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดโดยรวม รวมทั้งการแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งการที่สภาพัฒน์ปรับลดการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลงเหลือ 0.2% จากเดิม 3.5% นั้นให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งมีผลทำให้ต้องปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือ 3.0-4.0% จากเดิมที่ 3.5-4.5% ด้วย
นายอาคม กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฝ่ายรับมาตลอดในเรื่องของนโยบายการเงิน โดยที่ผ่านมาไทยปล่อยให้ประเทศอื่นเป็นฝ่ายอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ดังนั้นจึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชีย โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งกว่าเงินยูโร 18% และแข็งค่ากว่าเงินเยน 14% แต่โดยรวมแล้วแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้า 8.6% ดังนั้นการที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะมีผลในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ แม้การใช้นโยบายการคลังผ่านงบประมาณในปี 58 และงบกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรวมแล้วจะถือว่าเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วย เพราะจากการปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และทำให้ประชาชนเกิดความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อค่อยปรับเพิ่มขึ้นไม่ติดลบต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา
"(การลดดอกเบี้ย)มาช้าดีกว่าไม่มา อานิสงค์ช่วยในเรื่อง Demand side และความกังวลเรื่องดัชนีราคาผู้บริโภค ช่วยทำให้เกิดความต้องการใช้สินค้ามากขึ้น เงินเฟ้อจะขยับขึ้นมา ไม่ติดลบต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย สร้างความมั่นใจในการใช้จ่าย...การลดดอกเบี้ย 2 รอบติดกันเพียงพอต่อเศรษฐกิจในขณะนี้หรือไม่นั้น คงตอบแทนกนง.ไม่ได้ แต่ที่ผ่านมา กนง.บอกว่าถึง floor แล้ว แต่ก็ยังลดลงมาต่ำกว่า floor แสดงว่ายังมีกั๊กไว้ส่วนหนึ่ง ขณะนี้การเติบโตใน GDP ของไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอในการสร้างรายได้ให้ประชาชน" นายอาคม ระบุ