ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2015 ขยายตัว 3.0%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) จากที่ขยายตัว 2.1%YOY ในไตรมาสก่อน และขยายตัวได้ 0.3%QOQSA (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ถือว่าดีกว่าที่คาด โดย สศช. ได้ปรับปรุงข้อมูล GDP ใหม่ทั้งหมด เริ่มใช้ไตรมาส 1 ปี 2015 เป็นครั้งแรก
โดยการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยขยายตัวได้ 2.4% และหากเทียบการเติบโตกับไตรมาส 4 ปี 57 ขยายตัวได้ 0.6% หลังจากที่หดตัวในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งถือว่าดีกว่าที่คาด แรงสนับสนุนมาจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัวได้ 1.7% นอกจากนี้การซื้อรถยนต์เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว โดยสามารถขยายตัวได้เป็นครั้งแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 2.3% หลังจากที่หดตัวติดต่อกันถึง 8 ไตรมาสซึ่งจากผลของมาตรการรถยนต์คันแรก
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงกว่าที่คาด โดยสามารถขยายตัวได้ 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือ 3.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวได้ 4.1% สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศที่สำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่เติบโตถึง 11.9% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี ขณะที่การก่อสร้างขยายตัวได้ 1.8% โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารโรงงานยังขยายตัวได้ 1.5% และ 7.8% ตามลำดับ ขณะที่อาคารพาณิชย์หดตัว 6.1%
การลงทุนภาครัฐต่ำเติบโตสูงถึง 37.8% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของการเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการลงทุนก่อสร้างขยายตัว 44.2% และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว 21.8%
ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้ายังหดตัว แต่รายรับภาคบริการเติบโตดีขึ้น การส่งออกยังคงหดตัวทุกรายการสินค้าถึง 2.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี รายรับภาคบริการเพิ่มขึ้น 14.3% ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่เติบโต 11.7% เนื่องจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากจีน ขณะที่ปริมาณการนำเข้ากลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัว 6 ไตรมาสติดต่อกัน โดยขยายตัวที่ระดับ 4.0% การนำเข้าขยายตัวทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งเป็นการขยายตัวตามการใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน