“การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงที่บริหารจัดการมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ คือผ่านช่องทางของธนาคารพาณิชย์ เพราะมีสาขากว่า 7,000 สาขาทั่วประเทศ ครอบคลุมลูกค้าเอสเอ็มอีถึง 1 ล้านรายและเป็นยอดสินเชื่อกว่า 4 ล้านล้านบาท” นายบุญทักษ์ กล่าว
นายบุญทักษ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้มีการลดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ที่มีการปรับลดในครั้งล่าสุด แต่ไม่ได้มีการบีบบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องลดตาม เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นไปตามกลไกตลาด
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญในขณะนี้เป็นเรื่องการที่ธนาคารพาณิชย์มีการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีการฟื้นตัวขึ้น จากที่ปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ ทั้งนี้หากธนาคารพาณิชย์มีการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างจริงจังก็จะช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการเติบโตขึ้น และเป็นส่วนที่สำคัญไนการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้
ทั้งนี้ ภายหลังการหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยได้แสดงจุดยืนร่วมกันถึงการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มที่ โดยทางธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะเข้าดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้มีสภาพคล่องอย่างเพียงพอแก่การดำเนินธุรกิจต่อไป เพราะการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น นับเป็นพันธกิจหลักด้านหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมธนาคารระยะ 5 ปี ครอบคลุม 5 ด้าน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ฯของสมาคม ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล การสร้างสังคมทางการเงินผ่านการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคารและการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาค การเข้าถึงบริการทางการเงินทุกภาคส่วน และการผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งเน้นการสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากความร่วมมือจากธนาคารสมาชิกทั้งหมด พร้อมสรุปภาวะสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบัน และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จากการประเมินเบื้องต้นเศรษฐกิจไทยมีต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดอยู่ไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.8% ของจีดีพี ดังนั้นการเสริมสร้างระบบการเงินดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมธนาคารไทยและเศรษฐกิจไทยได้ โดยสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการตามมาตรการที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน (Payment System Roadmap) ตามนโยบายของคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.)
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้จัดตั้ง สำนักงานระบบชำระเงิน (Payment System Office) ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาระบบชำระเงินให้มั่นคง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากอัตรา 30% ของการชำระเงินทั้งหมดในปัจจุบัน เป็น 60-70% ภายในปี 2563
การยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Code of Conduct)ให้บูรณาการและทันสมัยมากขึ้น สมาคมฯจะจัดให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณธนาคาร (Code of Conduct Board) โดยคณะกรรมการนี้จะรับผิดชอบจัดทำจรรยาบรรณธนาคารที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้พนักงานของธนาคารสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง
การส่งเสริมความรู้ด้านการเงินของประชาชน สมาคมฯให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของธนาคารในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน โดยจะขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าวออกไปสู่ในระดับภูมิภาค ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดผ่านเครือข่ายธนาคารสมาชิกที่มีรวมกันมากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ และจะดำเนินการในรูปแบบโครงการร่วมกับโรงเรียนและชุมชนในแต่ละพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของภาคประชาชนในวงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ด้านสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินกับประเทศในภูมิภาค ในด้านการมีบทบาทสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจเอสเอ็มอี ทางสมาคมฯ เห็นว่าควรเร่งรัดให้มีการสนับสนุนการจัดตั้งและเชื่อมต่อระบบชำระเงินในประเทศเข้ากับระบบในเศรษฐกิจเพื่อนบ้านให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจในประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community - AEC) โดยเฉพาะ เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับที่สูง โดยจะสนับสนุนให้ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) เข้าไปมีบทบาทให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและระบบการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศเพื่อนบ้านให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานสากลและสามารถเชื่อมโยงระบบเข้ากับระบบชำระเงินของเอเชีย (Asian Payment Network) ได้ในที่สุด