(เพิ่มเติม) นายกฯเปิดงานข้าว-วางยุทธศาสตร์เพิ่มผลผลิต-ลดต้นทุนการผลิตลง20%ในปี2021

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2015 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงาน "ไทยแลนด์ ไรซ์ คอนเวนชั่น 2015" เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด "คิดถึงข้าว คิดถึงข้าวไทย ข้าวคุณภาพเยี่ยมของโลก" โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ให้การต้อนรับ ภายในงานมีคณะทูตานุทูต รวมถึงผู้ค้าข้าวทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 500 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงาน

โดยกระทรวงพาณิชย์ต้องการแสดงศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพดีของโลก รวมถึงตอกย้ำความเชื่อมั่นข้าวไทยให้กับผู้ค้า นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการมหัศจรรย์ข้าวไทยพันธุ์ 4 ภาค รวมถึงการแสดงกระบวนการผลิตข้าวไทยที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวปาถกฐาพิเศษหัวข้อ "ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวของไทย" ว่า ข้าวไทยถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของคนไทยสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยนายกฯ วางยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ซึ่งเน้น 3 ประเด็นหลักคือ 1.การค้าข้าวในตลาดโลกและบทบาทของประเทศไทย 2.โครงสร้างอุปสงค์ข้าวไทยและ 3.แผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาข้าวไทย โดยจะต้องให้ไทยเป็นผู้นำค้าข้าวตลาดโลก และต้องทำงานร่วมกันทั้งภาคการผลิต ภาคการตลาด แต่ในระยะสั้นจะมีการจัดการผลผลิตให้เหมาะสม ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ส่วนระยะยาวเน้นประสิทธิภาพ ความต้องการของตลาด ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ถ้าทำได้เช่นนี้เชื่อว่าในปี 2021 จะผลิตข้าวมากขึ้นร้อยละ 25 อีกทั้งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันได้อย่างน้อยร้อยละ20

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเพิ่มมูลค่าข้าว ซี่งปีที่ผ่านมามีการส่งออกข้าว กว่า 10.97 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แม้ปัจจุบันเจอความผันผวนและอุปสรรคจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อการผลิตก็ตาม แต่จากปัจจัยดังกล่าวจึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งออกข้าวคุณภาพไปทั่วโลกมากกว่าจะมุ่งส่งออกข้าวจำนวนมากๆ โดยจัดลำดับตลาดข้าว ทั้งระดับพรีเมี่ยม ระดับกลาง และระดับล่าง

ส่วนแนวโน้มข้าวไทย ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอาหารหลักของคนไทย แต่ยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิต ดั้งเดิมของคนไทย จึงอยากให้สร้างประวัติศาสตร์ของข้าวไทยให้คนรู้คุณค่าความสำคัญของข้าวไทยอันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวไทย ตลอดจนหามาตรการลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งการวิจัยพัฒนาที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้

"ฝากผู้ประกอบการให้ดูแลชาวนาด้วย อย่ามุ่งหวังเพียงกำไรเท่านั้น ขณะเดียวกัน จะต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพโรงสีข้าวทั้งหมด เพื่อให้มีคุณภาพประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้าว และอย่าให้มีการเอาเปรียบชาวนา ซึ่งสั่งการให้มีการดำเนินการเร็วๆนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวนั้นจะดำเนินการใน 7 ด้านหลัก คือ 1) แผนพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ 2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว 3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล 4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว 5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว 6) สร้างนวัตกรรม 7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์

โดย 1. แผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ คือ การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการสินค้าข้าว รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ทั้งด้านการผลิตและการค้า ให้มีความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ สอดคล้องกับสถานการณ์และภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภาคการผลิตและการค้าข้าวไทยอย่างยั่งยืน

โดยยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้วางไว้ คือ ระยะสั้น : รัฐบาลจะเร่งรัดปรับโครงสร้างการบริหารจัดการผลผลิตข้าวให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังเพื่อควบคุมปริมาณข้าวให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลือด้านการวางแผนการผลิตและการวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและคุณภาพข้าว

ระยะต่อไป : รัฐบาลจะให้การสนับสนุนภาคการผลิตในรูปแบบที่ไม่ทำลายกลไกตลาด โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ ต้นทุนต่ำ และให้ผลผลิตต่อไร่สูง สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานด้านสุขอนามัย โดยมีเป้าหมายให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทย ในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย ร้อยละ 25 ด้วยต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันที่ลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 20 รวมทั้งส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพที่มีความโดดเด่นซึ่งกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ สำหรับตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องงอก ข้าวไรซ์เบอรร์รี่ ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เพื่อเพิ่มมูลค่าและความหลากหลายของข้าวไทยในตลาด ภายใต้การผลิตแบบแปลงรวมเชิงอุตสาหกรรมด้วยระบบประณีตตามวิถีธรรมชาติ โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ

2. การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว โดยรัฐบาลจะดูแลการค้าข้าวให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด โดยร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาชน กำกับดูแลแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานการค้าข้าว เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ ตั้งแต่กระบวนการเก็บรักษา การบริหารจัดการสต็อกข้าว การจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ จัดระบบโรงสีและตลาดกลางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ รวมทั้งพัฒนาให้เกษตรกรชาวนามีความรู้เรื่องมาตรฐานการชั่ง การวัดความชื้นและสิ่งเจือปน

3. การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล โดยรัฐบาลจะจัดให้มีระบบการควบคุมตรวจสอบคุณภาพข้าวอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน ผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงสีปรับปรุงการสีแปรสภาพให้ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และปรับปรุงกฎกติกาการส่งออกข้าวป้องกันการปลอมปน เพื่อให้ข้าวไทยทุกเม็ดเป็นข้าวที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล

4. การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการส่งออกข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกระดับคุณภาพและทุกระดับราคาในตลาดโลก โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและภาครัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและกำกับดูแล เพื่อรักษาความเป็นธรรมทางการค้าและการแข่งขันอย่างเสรีตามกลไกตลาด ตลอดจนร่วมมือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้

ในส่วนของการตลาดต่างประเทศ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำทางด้านคุณภาพและมาตรฐานข้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากข้าวของโลก เพื่อให้ข้าวไทยคงความเป็นหนึ่งในเรื่องคุณภาพที่ผู้บริโภคทั่วโลกพึงพอใจ โดยจะส่งเสริมตลาดสำหรับข้าวคุณภาพสูง (Premium) และข้าวชนิดพิเศษสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) อาทิ ข้าวอินทรีย์ และข้าวประจำท้องถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ตามภูมิศาสตร์ (Geographical Identification : GI) เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้จากที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตอบสนองความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ยึดถือในตัวผลิตภัณฑ์ที่ตนเองมีความเชื่อมั่นสูง (Brand royalty) และพร้อมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์

5. การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว โดยสอดแทรกวัฒนธรรมข้าวไทยเข้าไปในทุกๆ กิจกรรม ทั้งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอคุณประโยชน์และความมหัศจรรย์ของข้าวไทยอันหลากหลายที่เป็นได้ทั้งอาหาร และ โภชนบำบัด ให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รู้จักและตระหนักถึงคุณค่าของพืชอาหารชนิดนี้

6. การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปข้าว โดยสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขยายตลาดสินค้านวัตกรรมจากข้าวให้แพร่หลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภค

7. การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ โดยพัฒนาปรับปรุงการขนส่งทั้งระบบให้มีความสะดวกและมีต้นทุนที่ต่ำลง ร่วมกับภาคเอกชนในการจัดตั้งคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นเพื่อเป็นจุดกระจายสินค้า และใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ เพื่อกระจายสินค้าไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว รัฐบาลมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคเกษตรกร โดยภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการค้า ภายใต้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ เพื่อรักษาระบบการค้าข้าวให้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่งเสริม ความร่วมมือและการซื้อขายข้าวระหว่างภาคเอกชนไทยกับผู้ค้ารายใหญ่จากประเทศ ผู้นำเข้า และผลักดันการบุกเบิกตลาดใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งข้าวในตลาดโลก ควบคู่กับการแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าวโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ใช้จุดเด่นของแต่ละประเทศให้เป็นประโยชน์ส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ ทั้งของไทยและจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระจายสินค้าเกษตรของอาเซียนไปสู่ตลาดโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ