สำหรับตัวเลขสินเชื่อ SMEs ในระบบปี 2557 อยู่ที่ 4.379 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อย ดังนั้น บสย.จึงต้องทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน จากสถาบันการเงินในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งการจัดกิจกรรมปีนี้ จะช่วยผลักดันให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.เป็นไปตามเป้าหมายทั้งจำนวนราย จำนวนเงิน รวมถึงจำนวนลูกค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระจายการค้ำประกันช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างทั่วถึง ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ มั่นใจว่าจะเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารธนาคารทั้งจากส่วนกลาง ผู้บริหารในพื้นที่และเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสาขาให้ความสนใจ เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด กว่า 800 คน โดยภายในงาน บสย.จะเปิดคลินิกให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย และคาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการSMEsเข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันของ บสย.ได้มากขึ้น โดยปี 2558 บสย.ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อ 80,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 27,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 120,000 ล้านบาท
ด้านนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสาขานครราชสีมา ครอบลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ มหาสารคาม เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสาขานครราชสีมา ระหว่าง 1 ม.ค. – 15 พ.ค. 2558 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ รวม 1,120 ราย วงเงินค้ำประกัน 1,502.96 ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด คือ 489 ราย วงเงินค้ำประกัน 593 ล้านบาท อันดับ 2 จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 173 ราย วงเงินค้ำประกัน 336 ล้านบาท อันดับ 3 จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 149 ราย วงเงินค้ำประกัน 252 ล้านบาท อันดับ 4 จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 162 ราย วงเงินค้ำประกัน 180 ล้านบาท และอันดับ 5 จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 147 ราย วงเงินค้ำประกัน 142 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.กลุ่มการบริการ (รับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ห้องพักให้เช่าและรีสอร์ท ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม) วงเงินค้ำประกัน 255 ล้านบาท 2.กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ ( จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รับซื้อของเก่า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์) วงเงินค้ำประกัน 227 ล้านบาท 3. สินค้าอุปโภคบริโภค วงเงินค้ำประกัน 208 ล้านบาท 4. กลุ่มเกษตรกรรม (จำหน่ายพืชผล-สินค้าทางการเกษตร) วงเงิน 192 ล้านบาท 5. กลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ (จำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร) วงเงินค้ำประกัน 134 ล้านบาท