ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้ามาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาง ทั้งการปล่อยเงินกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อยาง และการปล่อยเงินกู้เพื่อการแปรรูปยาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท ใช้ไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลพร้อมขยายเวลาการดำเนินมาตรการออกไปอีก โดยมอบหมายให้สภาเกษตรกรแห่งชาติไปพูดคุยกับ ธกส.เพิ่มเติม
ส่วนสินเชื่อช่วยชาวสวนยางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการจ่ายเงินไปแล้ว 40,000 ราย วงเงิน 4,000 ล้านบาท รอเบิกจ่ายอีก 40,000 ราย วงเงิน 4,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรได้ยื่นข้อเสนอขอเพิ่มวงเงินหากวงเงินกู้เต็ม 10,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลยินดีพิจารณาให้
ส่วนเรื่องสต๊อกยางพาราขณะนี้มี 340,000 ตัน แบ่งเป็นสต๊อกยางเก่าจากรัฐบาลที่แล้ว 2 แสนตัน และสต๊อกยางจากโครงการมูลพันธ์กันชนอีก 1.4 แสนตัน ซึ่งรัฐบาลได้ทำสัญญากับประเทศจีนไว้ 2 สัญญา รวมแล้ว 400,000 ตัน เชื่อภายใน 1 ปีจะสามารถระบายยางได้หมด โดยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องสต๊อกมากดดันราคายางอีกต่อไป
ด้านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรมีความพอใจราคาแผ่นยางรมควันในขณะนี้แล้ว ในระดับราคา 58 บาท แต่หากราคายางตก กลุ่มเกษตรกรต้องการให้รัฐบาลเข้ามารับซื้อยางพาราหรือชดเชยส่วนต่างราคายางพารา ซึ่งราคายางถือว่าเลยจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามราคายางจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้รัฐบาลยังคงเดินหน้าในการลดพื้นที่การปลูกยางให้เหลือ 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ