(เพิ่มเติม1) นายกฯ แจงงบรายจ่ายปี 59 ต่อสนช. ภายใต้คาดการณ์ GDP โต 3.7-4.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 21, 2015 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยระบุว่า เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่ 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.45 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายปี 58 หรือเพิ่มขึ้น 5.6% โดยงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวที่ 2.72 ล้านล้านบาทนี้คิดเป็น 20.4% ของ GDP

ฐานะการเงินการคลังภายใต้นโยบายเศรษกิจดังกล่าวในปี 59 รัฐบาลคาดว่าจะเก็บรายได้สุทธิได้ทั้งสิ้น 2.49 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 58 มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ 3.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้การประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 59 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 3.7-4.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ 1.1-2.1% และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 7.8 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2% ของ GDP

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปี 59 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นตามกรอบการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น และการลงทุนของภาครัฐที่มีความชัดเจน การลงทุนพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่หยุดชะงักมานานได้เร่งรัดแก้ไขให้เร็วขึ้น การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการและจะเร่งรัดให้เกิดขึ้นได้ภายในปี 58

อย่างไรก็ดี ในปี 59 เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีผลให้รายได้รัฐลดลง จากการเก็บภาษีสรรพสามิตลดลง การแข็งค่าของเงินบาทที่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 59 ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจากในปี 58 โดยนโยบายการเงินมีความผ่อนคลายมากขึ้นจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งติดกันมาอยู่ที่ระดับ 1.50% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นในการที่ภาวะการส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนอ่อนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

"เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ทุกอย่างก็เข้าสู่ระบบ สามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่การเมืองจะนิ่งแบบนี้ได้นานแค่ไหน ประชาชนและภาคการเมืองก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย ส่วนจะนิ่งได้นานแค่ไหนคงตอบไม่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วงต่อไปการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสนับสนุนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ฐานะการเงินของประเทศยังถือว่ามีความมั่นคงค่อนข้างมาก เนื่องจากล่สุดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมี.ค.58 ยังอยู่ที่ 156,319 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 59 นี้ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน โดยมั่นคงทุกมิติ ทุกหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม สร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนเป็นหลัก ให้มีความมั่นคงปลอดภัย และมีความมั่งคั่งในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก 2 ประการ คือ 1.น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา รวมทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 2. ดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ(2558-2564)

โดยกำหนดนโยบายและแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้ 1. พิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ 2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 โดยสนับสนุนภารกิจที่มีลำดับความสำคัญ และมีความพร้อมของโครงการ/รายการ ในการดำเนินการสูง 3. จัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ จำนวน 19 เรื่อง เพื่อเชื่อมโยงภารกิจและการดำเนินงานของหน่วยงานที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดความซ้ำซ้อนเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายสำคัญให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 59 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 272 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2.33 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 3.9 แสนล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,100,836.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.2 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,536.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 543,635.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 61,991.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของวงเงินงบประมาณ

โดยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเร่งรัดวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 247,342.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.1 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความมั่นคงแห่งรัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 240,418.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.8 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 222,375.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.2 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 994,414.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.6 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 71,060.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 27,335.5 ล้านบาท หรือประมาณ ร้อยละ 1 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 9,099.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 8 : การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 364,645.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 13.4 ของวงเงินงบประมาณ และ 9. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้จำนวน 543,307.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี ยืนยันต่อที่ประชุม สนช.ต่อการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือลดความขัดแย้ง บริหารราชการแผ่นดิน และวางรากฐานประเทศ ส่วน สมาชิก สนช. สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯ ให้ดำเนินการทุกอย่างไปตามกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งความคาดหวังต่างๆ ถือเป็นสิ่งกดดันการทำงาน แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใคร

สำหรับโครงการต่างๆ จะมีทหารเข้าไปช่วยดูแลตรวจสอบ และขอให้ไว้วางใจทหาร เพราะจะไม่ยอมให้เกิดการทุจริต พร้อมระบุ ถึงการปรับย้ายข้าราชการว่าเป็นการปรับการบริหารราชการแผ่นดิน ใครไม่ดีต้องเอาออก และสุดท้ายได้ขอให้ สนช.ทำงานอย่างเต็มที่ โดยที่รัฐบาลจะช่วยดูแลความเรียบร้อยให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ