ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวผันผวนในสองทิศทางมากขึ้น โดยเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 11 มี.ค. แต่ก็ปรับแข็งค่าขึ้นหลังจากการประชุม FOMC ของสหรัฐฯซึ่งเนื้อหาในแถลงข่าวเป็นไปในทิศทางที่ผ่อนปรนกว่าที่ตลาดคาด อีกทั้ง IMF ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลง รวมทั้งปัจจัยภายในจากการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกของไทย
จากนั้นในช่วงปลายเดือนเม.ย. หลังจากกนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ประกบกับธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ออมและนักลงทุนไทยได้ลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายในระยะยาว ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ร่วมตลาดปรับมุมมองเกี่ยวกับค่าเงินบาท โดยเห็นว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาตลาดการเงินโลกมีความกังวลเกี่ยวกับราคาสินทรัพย์ จากคำเตือนของประธาน FED ที่แสดงความกังวลว่าอาจเกิด Overvaluation ในราคาหุ้นและมีความเสี่ยงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะปรับขึ้นเร็ว หาก FED เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ต่างๆ กดดันให้เงินภูมิภาคและเงินบาทอ่อนค่าเร็ว โดยในเดือนพ.ค. ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 33.18-33.88 บาท
สำหรับในระยะต่อไปค่าเงินยังมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยตลาดยังคงจับตาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่แกตต่างกันของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งจังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ขณะเดียวกันตลาดยังคงกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากส่งผลต่อการส่งออกของภูมิภาคเอเชียที่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา