สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยจะเน้นอายุ 3 ปี, 5 ปี, 7 ปี, 10 ปี และ 12 ปี ซึ่งแผนบริหารหนี้ทั้งหมดนี้จะครอบคลุมภายในระยะเวลา 20 ปี โดยจะเน้นออกตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก ทั้งนี้แนวทางการออกกฎหมายพิเศษนี้ เพื่อบรรเทาภาระงบประมาณที่ต้องตั้งขึ้นเพื่อการชำระหนี้ที่ในเฉลี่ยในแต่ละปีถึง 6.4 หมื่นล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย ขณะที่ในปีงบประมาณ 59 มีการตั้งงบชำระหนี้เฉพาะเงินต้น 6.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมดอกเบี้ย รมว.คลัง กล่าวว่า ถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักมากของรัฐบาล ดังนั้นการออกกฎหมายเพื่อล้างหนี้จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า เพราะในกฎหมายจะสามารถยืดหยุ่นระยะเวลาในการชำระหนี้ได้
"กระทรวงกาคลังกำลังคิดเรื่องการออกกฎหมายนี้อยู่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะแต่ละปีรัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก ขณะที่ตอนนี้เรากำลังปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อหารายได้เพิ่ม หากจะเอาเงินในส่วนนี้มาใช้หนี้ เม็ดเงินที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่ตกถึงประชาชน" นายสมหมาย กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลยังเตรียมจะพิจารณาขายหุ้นในกิจการของเอกชนที่รัฐถือหุ้นอยู่ และมองว่าไม่เป็นประโยชน์หรือบริหารจัดการยาก โดยจะขายหุ้นออกไป เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้นไว้ ซึ่งคาดว่าจะได้เงินในส่วนนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในการบริหารจัดการหนี้ในระยะต่อไป
"จะทำเท่าที่ทำได้ เรื่องนี้หารือนายกฯ ไว้แล้ว ยืนยันว่าการดำเนินการงานในส่วนนี้ทั้งหมด เป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ระหว่างนี้จะใช้เวลาในการร่างกฎหมายให้เป็นรูปเป็นร่างเร็วที่สุด ส่วนระยะเวลาในการออกบอนด์ จะเป็นไปตามกลไกระยะเวลา โดยคาดว่าเมื่อเสนอครม.แล้ว ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งการออกบอนด์จะทยอยออกเป็นงวดๆ ไม่เร่งออกทั้งก้อน" รมว.คลัง ระบุ