สำหรับระยะเวลาการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบกำหนด 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2558 โดยระยะเวลาเก็บรักษาไม่เกิน 6 เดือน (มิถุนายน – พฤศจิกายน 2558) ซึ่งขอใช้เงินงบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เป็นค่าใช้จ่ายในการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดฯ เพื่อเก็บสต๊อก งบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,952.896 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินทุนหมุนเวียน จำนวน 2,620.00 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนในการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ปริมาณ 100,000 ตัน จากโรงงานสกัดในราคากิโลกรัมละ 26.20 บาท เงินจ่ายขาด วงเงิน 276.45 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ ตันละ 214 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์การคลังสินค้าตามที่จ่ายจริง วงเงิน 16.446 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขาย วงเงิน 40.00 ล้านบาท
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการในการรับซื้อและการระบายให้มีความรัดกุม รอบคอบ และโปร่งใสมากที่สุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมศุลกากร กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานผลการลักลอบนำเข้าและการนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ให้ประธาน กนป. และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะเลขานุการ กนป. ทราบทุก 15 วัน รวมทั้งได้มีการเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินการของคณะกรรมการ กนป. โดยมีนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานคณะทำงาน และคณะอนุกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ กนป. 1 คน ร่วมเป็นอนุกรรมการฯ
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการผลิต การลดต้นทุนการผลิต ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม รวมทั้งให้ทางจังหวัดกำกับการดำเนินการของโรงงานสกัด ลานเท โรงกลั่นฯ และโรงผลิตไบโอดีเซล ให้เป็นไปตามมติ กนป. อย่างเคร่งครัด
อนึ่ง ที่ประชุม กนป. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินมาตรการการรักษาเสถียรภาพราคาทั้งระบบ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนทั้งระบบ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวการแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันทั้งระบบในแต่ละมาตรการ ดังนี้ มาตรการเร่งด่วน ให้กรมการค้าภายใน กำหนดราคาแนะนำในการรับซื้อผลปาล์มทะลาย ผลปาล์มร่วง และน้ำมันปาล์มดิบ โดยออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (สกกร.) ให้รับซื้อผลปาล์มทะลายและผลปาล์มร่วง ในราคาเดียวกัน อัตราน้ำมันร้อยละ 17 ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 4.20 บาท ณ หน้าโรงสกัดน้ำมันปาล์มและจุดรับซื้อในพื้นที่ (ลานเท) โดยให้ลานเทสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งตามที่กำหนดในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) เป็นผู้กำหนดค่าใช้จ่ายและค่าขนส่งที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งระบบ (ได้แก่ โรงสกัดฯ ลานเท และเกษตรกร) รวมทั้งประกาศให้รับรู้ทั่วกัน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรขายผลปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันสูงกว่า 17% ทุก 1% ที่เพิ่มขึ้น จะได้ราคาเพิ่มขึ้นอีก 0.30 บาท/กก. ในขณะที่ผลปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันต่ำกว่า 17% ทุก 1% จะลดราคา กก.ละ 0.25 บาท ทั้งนี้ ได้ผ่อนผันให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตที่มีน้ำมันไม่ต่ำกว่า 15% ในช่วง 3 เดือน (พฤษภาคม – กรกฎาคม) เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้
นอกจากนี้ กำหนดให้โรงกลั่นฯ โรงผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันดิบทั่วไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 26.20 บาท ณ หน้าคลังผู้รับซื้อในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวด ไม่สูงกว่าราคาเพดานคือไม่เกินลิตรละ 42 บาท โดยกรมการค้าภายใน กำกับดูแลให้ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชปาล์มบรรจุขวดในสอดคล้องกับต้นทุน พร้อมติดตามประเมินผลในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอต่อกนป. พิจารณาให้ความเห็นชอบออกเป็นประกาศ กกร. เมื่อสิ้นสุด 3 เดือนที่กำหนด (พฤษภาคม – กรกฎาคม) กำหนดให้เกษตรกรต้องขายผลผลิตปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 17% โดยอาจจำเป็นต้องมีผลบังคับตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสภาเกษตรกร ในการร่วมตรวจสอบสต็อกน้ำมันปาล์ม เป็นรายโรงงาน ทุกเดือน
มาตรการระยะ 3 เดือน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับดูแลให้การรับซื้อของลานเทเป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (ส.กกร.) และบริหารจัดการให้ลานเทเป็นเครือข่ายของ โรงงานสกัดฯ หรือให้โรงงานสกัดฯ กำหนดพื้นที่รับผิดชอบในการรับซื้อผลผลิต และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกปาล์มของเกษตรกร เพื่อให้ได้ข้อมูลการผลิตที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาเกษตรกรในพื้นที่ ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจ เกษตรกร ผู้รับจ้างตัดปาล์ม ลานเท เกี่ยวกับการผลิต การเก็บเกี่ยว มาตรการของรัฐ การบังคับใช้กฎหมาย และตามประกาศข้อแนะนำต่างๆ โดยให้กรมการค้าภายใน นำเสนอ กกร. เพื่อออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้ประกอบการลานเท แจ้งชื่อ ราคา ปริมาณ และสถานที่เก็บสินค้า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
มาตรการระยะยาว ได้กำหนดแนวทางไว้ 2 เรื่อง คือ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เกรด B พัฒนาศักยภาพการสกัดเพื่อให้สามารถสกัดปาล์มทะลายได้และแยกสกัดน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เร่งรัดดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม