ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยเฉพาะในภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบกับในเดือนเม.ย.มีวันหยุดต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเห็นว่าการขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นโอกาสที่ดี สำหรับผู้ประกอบการในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นโอกาสในการวางรากฐานธุรกิจในอนาคต
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 เพิ่มขึ้นจาก 100.4 ในเดือนมี.ค. โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเม.ย.นี้ คือเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งเสนอให้ภาครัฐปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษี พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน