ครม.รับทราบแผนจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งเป้า 5 ปีเข้าระบบ 218 ล้านตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 26, 2015 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558-2562 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการปรับกรอบระยะเวลาของแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผนต่อไป

ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมในประเทศเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยดำเนินการแจ้งการขนส่งกากอุตสาหกรรมออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลที่โรงงานที่ได้รับอนุญาตปัจจุบันมีอยู่ 5,297 โรงงาน ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นปีละ 12,500 โรงงาน(ระยะเวลา 5 ปี รวม 62,500 โรงงาน), กากอุตสาหกรรมได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและตามหลักวิชาการ

ปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมอันตราย จำนวน 1.03 ล้านตัน ตั้งเป้าให้เข้าระบบเพิ่มขึ้นปีละ 0.47 ล้านตัน(ระยะเวลา 5 ปี รวม 13.55 ล้านตัน) ส่วนกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายจำนวน 12.24 ล้านตัน ตั้งเป้าให้เข้าระบบเพิ่มขึ้นปีละ 8.01 ล้านตัน (ระยะเวลา 5 ปี รวม 194.8 ล้านตัน)

สาระสำคัญของแผนฯ ได้แก่ 1.โรงงานผู้ก่อกำเนินกากอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(ร.ง.4) ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และมีการแจ้งการประกอบกิจการแล้ว เข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยดำเนินการแจ้งการขนส่งกากอุตสาหกรรมออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลยังโรงงานผู้รับดำเนินการที่ได้รับอนุญาต เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี,

2.มีการควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานพาหนะขนส่งกากอันตรายทุกคัน โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการเครือข่าย และระบบการติดตามยานพาหนะโดยใช้เทคโนโลยีผ่านสัญญาฯดาวเทียม(GPS), 3.โรงงานที่ได้รับอนุญาตให้บำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 101 ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน(Third Party) ทั้งทางตรงโดยวิธี Post Audit/Inspection และทางอ้อมโดยวิธีสุ่มตรวจเอกสารกำกับของเสีย(Waste Manifest) เพื่อให้การประกอบกิจการโรงงานถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ,

4.เจ้าหน้าที่ผู้กำกับ ดูแล และผู้อนุญาตมีวิธีการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานและมีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่หน่วยงานระดับจังหวัด รวมทั้งมีเอกชน(Third Party) ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ