ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้แก่ 1.ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535, 2.ปรับปรุงนิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น มอระกู่ มอระกู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มเติมนิยามคำว่า “สื่อสารการตลาด" ให้ครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย(Point of Sale) การขายโดยการใช้บุคคล (พริตตี้) การสร้างภาพลักษณ์,
3.เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ฉลาก" ให้ครอบคลุมการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบและเพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC), 4.กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติคณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร,
5.กำหนดให้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ" เพื่อปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และเป็นฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ, 6.กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี,
7.เพิ่มข้อกำหนดการห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะจูงใจให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น และห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด สถานบริการ สาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ เป็นต้น รวมทั้งห้ามผลิต นำเข้า หรือขายสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ,
8.กำหนดห้ามการโฆษณาและสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น ห้ามการแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประกวดหรือการแข่งขัน, 9. กำหนดห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดำเนินกิจกรรมในลักษณะให้การอุปถัมภ์ หรือ การสร้างความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม,
10. กำหนดห้ามการเผยแพร่กิจกรรมหรือข่าวสารที่เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ, 11. กำหนดห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ขายปลีกและห้ามแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ, 12. กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ,
13. กำหนดให้การติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐกับผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นไปเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือในการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) , 14. กำหนดสภาพและลักษณะของ “เขตปลอดบุหรี่" และ “เขตสูบบุหรี่" ให้มีความชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่สาธารณะ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ควบคุมดูแล หรือห้ามปรามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่,
15. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น มีอำนาจในการยึดหรืออายัดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกเสียง ออกใบสั่ง เป็นต้น, 16. เพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จากเดิมโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ จากเดิมมีโทษปรับไม่เกินสองพันบาทเป็นมีโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เป็นต้น