ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาด้านนวัตกรรม การสำรวจช่องทางการตลาด และการจับคู่ธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในกลุ่ม SME เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจผันผวน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย เดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดให้มีพิธีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในระดับนานาชาติ โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1.รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัลมอบให้กับองค์กรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดระดับประเทศ ในการบริหารงานด้านต่างๆ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงจูงใจให้กับองค์กรอื่น เร่งพัฒนาและยกระดับการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและ 2.รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2.ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4.ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5.ประเภทการจัดการพลังงาน 6.ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมและ 7.ประเภทการจัดการโลจิสติกส์
นางอรรชกา กล่าวต่อว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี อาจทำให้มูลค่าโดยรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดอาเซียนมีกำลังซื้อสูงมาก เพราะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน มีสัดส่วนจีดีพีรวมกันสูงถึง 62 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันจีดีพีของประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 60 ของจีดีพี หรือกว่า 7 ล้านล้านบาท มาจากภาคการส่งออก โดยในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนสูงสุดร้อยละ 25 ดังนั้นการขยายสัดส่วนการส่งออกภาคอุตสาหกรรมไทย ไปยังตลาดอาเซียนในอนาคตยังคงมีโอกาสสูงมากซึ่งในภาพรวมจะสามารถช่วยเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคในอาเซียนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย