ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน เม.ย.58 อยู่ที่ 53.99 จาก 56.41 เม.ย.57
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลง แต่การส่งออกเพิ่มขึ้น โดยการผลิตรถยนต์เดือนเมษายน 2558 มีจำนวน 123,968 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.23 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 54,058 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.21 และ การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 82,130 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.66
ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนเมษายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.21 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 26.25 เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ขณะที่ Other IC และ Semiconductor เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.59 และ 11.77 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตยังขยายตัว ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.42 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 2.84, 20.28 ,5.90 ,22.37 ,30.32 และ 87.65 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว(ยุโรป และญี่ปุ่น) ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.91
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยเดือนเมษายนปี 2558 มีปริมาณ 1.3 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.401 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 8.86 การส่งออกมีมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.01 สำหรับการนำเข้า 580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.68 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิต และการบริโภคลดลง เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้ายานยนต์ ที่มีการผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนซึ่งมีราคาต่ำจากบางประเทศ เช่น อิหร่านและบราซิลเพิ่มขึ้นมากด้วย สำหรับเหล็กทรงยาวมีการผลิตและการบริโภคที่ลดลง เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัว
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่า การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.19 เนื่องจากความต้องการเส้นใยสังเคราะห์ของตลาดภายในเพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าผืนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 12.23 จากการที่ผู้ผลิตมีสต็อกค่อนข้างมาก ประกอบกับผู้ใช้ในประเทศบางรายนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผ้าที่มีอยู่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.54 ตามความต้องการใช้ในประเทศ
ทางด้านการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ของเดือนเมษายน ปี 2558 มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 11.16 ตามการลดลงของตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย ตุรกี อินเดีย และบังคลาเทศ ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนมีมูลค่าส่งออกลดลง ร้อยละ 4.67 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 4.02 จากคำสั่งซื้อในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา
ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 15.3 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลที่ลดลง เป็นผลจากจำนวนวันทำงานที่น้อยลง และวัตถุดิบที่กระจุกตัวและเข้าโรงงานช่วงก่อนสงกรานต์ ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.6 จากแนวโน้มที่ดีขึ้นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลสรุปการแก้ไขวิกฤตการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกไม่ขยายตัวมาก ส่วนการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า สศอ.ยังคงเป้าหมายการเติบโตของดัชนีผลผลิตอุตสาหหรรม(MPI) ปี 58 ไว้ที่ 3-4% ขณะที่จีดีพีภาคอุตสาหกรรมยังคงเป้าที่ 2-3% แต่จะรอประเมินอีกครั้งที่จะมีการแถลงรายภาคอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้หวังว่าพ้นไตรมาสที่ 2 ไปแล้วจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่าภาวะอุตสาหกรรมเป็นอย่างไรเพราะตอนนี้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายใน
"สัญญาณน่าจะดูดี แต่คนเพิ่งป่วยจะวิ่งเลยก็ไม่ได้ ต้องขยับแข้งขยับขาก่อน และบาง Sector คู่แข่งเยอะอาจจะช้า" นายศิริรัจ กล่าว