"เวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกรได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวิเคราะห์การแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาระดับราคายางพาราได้อย่างยั่งยืนต่อไป"
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 20 ล้านไร่ เปิดกรีดแล้ว 17.4 ล้านไร่ ผลผลิตยางในปัจจุบันมีประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยจำนวนนี้ส่งออกยางในรูปวัตถุดิบกึ่งสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 3.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 193,754.8 ล้านบาท และส่งออกในรูปของผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป ได้แก่ ถุงมือยาง ยางยานพาหนะ ยางยืด ท่อยาง ยางรัดของ เป็นต้น
เนื่องจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการแทรกแซงราคายางเพื่อช่วยเหลือ เช่น การแทรกแซงราคาผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำสำหรับเกษตรกร เป็นต้น ในรัฐบาลปัจจุบันได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยโครงการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวโดยการพัฒนายางพาราทั้งระบบ ด้วย 4 แนวทางคือ 1. ลดผลผลิต 2. เพิ่มสภาพคล่อง 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด และ 4. การเพิ่มการใช้ยางในประเทศ การแก้ปัญหาราคายาง ต้องมีการศึกษาทั้งโครงสร้างตั้งแต่ระดับเกษตรกรชาวสวนยางจนถึงการแปรรูป เพราะมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วน เช่น การลดพื้นที่การปลูกสวนยาง
ดังนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงเล็งเห็นว่าแนวทางการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อรักษาระดับราคายาง เป็นวิธีที่สามารถทำได้โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก เป็นการสร้างศักยภาพพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในประเทศ จะสามารถแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้อย่างยั่งยืน