ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่ กระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังเป็นเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง คาดว่าในปี 2568 อุตสาหกรรมที่จะนำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Travel) การแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming) จะช่วยผลักดันให้รายได้รวมของตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่เติบโตถึง 335 แสนล้านดอลลาร์ (11 ล้านล้านบาท) จากปัจจุบันที่ราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (5 แสนล้านบาท)
โครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็น (Excess capacity) หรือไม่ได้ใช้แล้ว ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ
81% ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ถูกสำรวจมองว่า การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสมบัติและสิ่งของระหว่างกันคุ้มค่ากว่าการซื้อมาครอบครอง ในขณะที่ 83% เห็นด้วยว่าการแชร์ทรัพยากรระหว่างกันช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 43% ยังเชื่อด้วยว่า ยิ่งครอบครองหรือเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆจำนวนมากๆมีแต่จะเป็นภาระ ในขณะที่ 76% บอกว่า Sharing Economy เป็นการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
ความไว้วางใจ (Trust) ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy มากที่สุด เพราะผูกติดไปกับเรื่องความปลอดภัย ธุรกิจลักษณะนี้เน้นการแชร์ หรือแบ่งปันทรัพยากรผ่านอินเตอร์เน็ต ใช้สินค้าและบริการกับคนแปลกหน้า ดังนั้น ธุรกิจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถหามาตรการสร้างความไว้วางใจต่อการให้บริการ
การที่ไทยกำลังปรับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของภาครัฐ จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาด หรือโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น โดยภาคส่วนต่างๆ จะเชื่อมเข้าหากัน และภาคธุรกิจจะแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากร่วมกันเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่ ต้องรีบปรับตัว ทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัล และที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว