ครม.สั่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อลดภาระจ่ายเงินชดเชย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 2, 2015 16:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในปี 56/57 ว่า จากมติ ครม.เมื่อเดือน มิ.ย.57 ที่ให้ชดเชยราคาอ้อยแก่เกษตรกรเพิ่มอีกตันละ 160 บาท และให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาจ่ายเป็นค่าชดเชยแก่เกษตรกร โดยให้ ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำเป็นพิเศษ รวมทั้งการปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายเพิ่มอีก ก.ก.ละ 5 บาทนั้น ผลการดำเนินงานล่าสุด ณ วันที่ 28 เม.ย.58 พบว่า กอน.ได้จ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้แก่เกษตรกรไปแล้ว 16,565 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณอ้อย 103 ล้านตัน หรือคิดเป็น 99.87% โดยปริมาณอ้อยที่เหลืออีก 1.3 แสนตันนั้น ประกอบด้วย ชาวไร่อ้อยที่ยังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนไมีเป็นที่เรียบร้อยอีก 489 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จและรับเงินชดเชยได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ ขณะที่ชาวไร่อ้อยอีก 61 ราย หรือคิดเป็นปริมาณผลผลิตอ้อย 4 พันตัน ได้แสดงความประสงค์จะไม่ขอรับเงินชดเชย

ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในปี 57/58 นั้น หลักการยังคงเป็นไปตามแนวทางเดิม คือ จ่ายชดเชยค่าอ้อยตันละ 160 บาท และนำหนี้เก่าที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน ธ.ก.ส.ในปี 56/57 มารวมกับหนี้ใหม่ในปี 57/58 แล้วบริหารจัดการใช้ในรอบเดียวกัน โดยเงินที่นำมาใช้คืนนี้จะเกิดจากการที่ขายน้ำตาลทรายในราคาเพิ่มขึ้น 5 บาท/กก.

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเพิ่มเติม โดยเห็นว่าโครงสร้างการผลิตอ้อยและน้ำตาลและการจำหน่ายยังคงมีปัญหาอยู่ตลอด จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการวิจัยของ TDRI ไปพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยเร่งด่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และขอให้คณะกรรมการที่เกี่ยวขัองไปกำหนดต้นทุนของราคาอ้อยขั้นต้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง รวมทั้งการจะนำผลผลิตอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลนั้นขอให้เร่งดำเนินการเช่นกัน เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอ้อยได้เต็มที่มากขึ้น และลดภาระของรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชยให้น้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ