โครงการจะมีการก่อสร้าง 3 ส่วนคือ แนวเส้นทางเป็นแนวทางใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 21.40 กิโลเมตร (ฝั่งไทย 17.26 กิโลเมตร และฝั่งเมียนมา 4.14 กิโลเมตร) โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 12 และบรรจบกับถนนหมายเลข 85 (เมียวดี – กอกะเร็ก) สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 กำหนดให้มี 2 ช่องจราจร ความยาว 760 เมตร (ฝั่งไทย 515 เมตร และฝั่งเมียนมา 245 เมตร) และ ด่านพรมแดนและจุดสลับทิศทาง กำหนดให้มี 2 แห่ง ทั้งในฝั่งไทยและเมียนมา โดยออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศสำหรับจุดสลับทิศทางกำหนดไว้ที่ฝั่งไทย
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ให้กรมทางหลวงไปหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินการตรวจสอบการเข้าข่ายประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือกิจการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม รายงานว่า โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอดพร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะเป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงฐานการผลิตและส่งออกระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อีกทั้งเป็นประตูการค้าที่สำคัญแห่งใหม่ในอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกอันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยโครงการดังกล่าวได้บรรจุอยู่ในแผนโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2557 - 2559)