(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์ คาดส่งออกไทยปี 58 โตเพียง 0.5% นำเข้าหดตัว 2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2015 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ประเมินว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตได้ 0.5% ขณะที่การนำเข้าจะหดตัว 2% โดยมองว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานต่ำในปีก่อน แต่ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตน่าจะมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เริ่มฟื้นตัวขึ้น

"ส่งออกปีนี้คงโตได้ 0.5% เชื่อว่าน่าจะทำได้ ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงเกินไป โดยครึ่งปีหลังการส่งออกจะเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก เพราะตลาดหลักของไทยฟื้นตัว ในขณะที่ประเมินว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.5% โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มมาขึ้น รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าทั้งปีการลงทุนภาครัฐจะสามารถเติบโตได้มากกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา

ขณะที่ประเมินว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีนี้คาดว่าะจอยู่ที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่านี้ อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า 0.5%

น.ส.กิริฎา กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มถดถอย แต่การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง จึงส่งผลให้ภาพรวมราคาพลังงานในประเทศที่เป็นต้นทุนสำคัญของราคาสินค้าปรับตัวลดลงตาม ดังนั้น จึงไม่ห่วงว่าการถดถอยของตัวเลข CPI จะหมายถึงการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

"เงินเฟ้อที่ถดถอย เป็นเพราะราคาน้ำมันที่นำเข้าลดลงมาก จึงทำให้ราคาพลังงานในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อน รวมทั้ง CPI ปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงมาก ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงน่าจะเป็นข่าวดีมากกว่า และเราไม่กังวลจะว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด"น.ส.กิริฏา กล่าว

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การผลิตสินค้าของประเทศไทยในขณะนี้ยังมีปัญหาในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะสินค้าส่งออกที่เคยเติบโตได้ดีในอดีต แต่ปัจจุบันไม่สามารถโตเช่นในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องกลับมาให้ความสำคัญในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและแรงงานของไทยให้สูงขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และทำให้ไทยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ จากรายงานของธนาคารโลก พบว่าการขยายตัวด้านการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2555 นั้น มีผลมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยอัตราการส่งออกเฉลี่ยในช่วงปี 2549-2554 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13% ก่อนที่จะชะลอตัวลงจนต่ำกว่า 1% ในช่วงปี 2555-2557 ซึ่งสอดคล้องกับการที่ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ด้านนายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า การเพิ่มคุณภาพการศึกษาสำหรับทุกคนจะเป็นการช่วยเพิ่มทักษะและผลิตภาพของกำลังแรงงาน และเป็นกุญแจไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะก้าวหน้าไปมากในการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่การให้การศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน จะช่วยให้นักเรียนทุกคนสามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะของไทย

นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างระบบเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มีครูที่ดี และช่วยให้ทุกห้องเรียนมีการเรียนการสอนที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนทุกคนมีการศึกษาที่ดีขึ้น และลดความแตกต่างของผลการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ