"ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนจะกล้าเพิ่ม ตอนนี้ดูเศรษฐกิจแล้ว ผมและผู้ใหญ่คุยกันแล้วว่าถ้าขึ้นจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน....คงจะทำเรื่องเสนอ ครม.ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า"รมว.คลัง กล่าว
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น รมว.คลัง คาดว่านำจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ภายในอีก 2 เดือน โดยมองว่าในส่วนนี้น่าจะเป็นการช่วยสร้างรายได้จากภาษีได้มากกว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยืนยันว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะมีการขยายฐานภาษีเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่รายได้รัฐและภาษีที่จัดเก็บได้รวมกันอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้จะเป็นรายได้จากภาษี 17% ของจีดีพี ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าให้ขยายเพิ่มเป็น 20% ต่อจีดีพีเป็นอย่างน้อย
นายสมหมาย ระบุว่า ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ประเทศไทยยังจำเป็นต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และมองว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) 2 ครั้งติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมาที่มีผลทำให้เงินบาท่อนค่าลงนั้น สามารถช่วยภาคส่งออกได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดในอาเซียนแล้ว จึงมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีก
"ตอนนี้ดอกเบี้ยเราต่ำสุดในอาเซียนแล้ว ถ้าลดอีกคนออมเงินจะอยู่อย่างไร การลดลง 2 ครั้ง ถือว่าช่วยผู้ส่งออกได้ในระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องลดอีก"รมว.คลัง กล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า รัฐบาลยังได้วางแนวทางสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไปไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปฏิรูปด้านการคลังและด้านภาษี 2.การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3.การพัฒนาเข้าสู่ยุค Digital Economy 4.การสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs 5.การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และ 6.การสนับสนุนนโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
รมว.คลัง ยังกล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการปฏิรูปการศึกษา และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนความรับผิดชอบกำกับดูและกระทรวงการคลังนี้ จะพยายามสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดีภายในกระทรวง ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาการทำงาน ยกเว้นการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มองว่าจำเป็นต้องนำมาตรา 44 เข้ามาบังคับใช้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง