เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นนั้น มาจากความชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายร่วมมือกันพัฒนาประสิทธิภาพการเพาะปลูกอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่และให้ได้คุณภาพอ้อยที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายได้ลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมาโดยตลอด พร้อมนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น นำชานอ้อยไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าหรือการนำกากน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของภาครัฐที่มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตและใช้พลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ
“ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมได้ช่วยเหลือกันเอง เพื่อส่งเสริมการผลิตอ้อยแต่เมื่อราคาในตลาดโลกลดลง โรงงานน้ำตาลต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้เพื่อความอยู่รอด โดยมองว่าอ้อยไม่ได้เป็นพืชอาหารเพียงอย่างเดียวแต่เป็นพืชพลังงานด้วย จึงนำอ้อยและของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจพลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันมีหลายโรงงานมีความต้องการผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น โดยเข้าไปส่งเสริมด้านการเพาะปลูกให้แก่เกษตรกรและให้ความมั่นใจว่าจะรับซื้อผลผลิตอ้อยทั้งหมด ทำให้เกษตรกรมั่นใจมีตลาดรองรับและหันมาให้ความสนใจเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น" นายสิริวุทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ รูปแบบโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยที่มีเสถียรภาพ โดยใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ที่สร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเอื้อต่อการเติบโตที่ดีและมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจัดเก็บรายได้บางส่วนจากการจำหน่ายน้ำตาลที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาวไร่และโรงงานน้ำตาลมาช่วยรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรม ทั้งกระบวนการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มชาวไร่อ้อยให้มีความเข้มแข็ง โดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีการดูแลผู้บริโภคให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำตาลในไทยต่ำกว่าประเทศอื่นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้ผลิตอื่นๆ