ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ปรับลด GDP ปี 58 ลงเหลือ 3-4% จากเดิม 3.5-4.5%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.ติดลบ 1.7%, ราคาพืชผลทางเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง และ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการที่สภาพัฒน์ เปิดเผย GDP ในไตรมาส 1/58 ขยายตัว 3% ดีขึ้นจากไตรมาส 4/57 ที่ขยายตัว 2.1%
"ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนพ.ค.58 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และลดลงต่ำสุดในรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค.57 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ภาวะภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตร ตลอดจนการส่งออกที่ยังหดตัวลง ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก"นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดว่าการบริโภคของประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในไตรมาส 2 ซึ่งการฟื้นตัวจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนอยู่ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการบริโภคจะฟื้นตัวขึ้นหากรัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป และการบริโภคน่าจะฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นได้ตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 เป็นต้นไป
“คนมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีในรอบ 1 ปี และยังไม่เห็นสัญญาณในอนาคตว่าจะปรับตัวในทิศทางขาขึ้น ตอนนี้คนขาดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ในขณะที่ผู้ประกอบการมียอดขายสินค้าน้อยลง กำไรน้อย และไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ สถานการณ์นี้จะครอบคลุมไปถึงต้นไตรมาส 3" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า การบริโภคของประชาชนจะยังไม่ใช่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ เพราะแม้ภาคการเมืองจะมีเสถียรภาพดี แต่ก็ยังไม่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นหรือคึกคักนัก เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงทำให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งจะเห็นได้จากการดัชนีความเหมาะสมในการซื้อสินค้าประเภทคงทนอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการคือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินกระจายลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด และทำให้เม็ดเงินสะพัด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ความเชื่อมั่นของประชาชนในการบริโภคก็จะเริ่มกลับมาได้เร็วขึ้น
นายธนวรรธน์ ยังแนะด้วยว่าการดำเนินนโยบายการเงินในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้น ยังมีพื้นที่พอที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะมีผลในการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ 0.05-0.1% ต่อปี ขณะเดียวกันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงและช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยได้ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ในระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์ หรือเข้าใกล้ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ได้ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ มองว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่การส่งออกของไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงนั้น โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจยังคาดว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5%
“ยังมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะโตได้มากกว่า 3.5% ถ้ามีการใช้นโยบายเรื่องดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าไปใกล้ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ นอกจากนี้จะต้องไม่มีปัญหาจากที่กรีซจะออกจากยูโรโซน ซึ่งหากเป็นได้ตามนี้เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสโตได้มากกว่า 3.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกัน 5 เดือน แต่ก็เป็นเพียงภาวะเงินฝืดในทางเทคนิคเท่านั้น เพราะในปัจจุบันกำลังซื้อจากประชาชนยังคงมีอยู่ ซึ่งหากจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้น นอกจากอัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้ว กำลังซื้อจะต้องหายไปด้วย และนั่นจึงจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่น่ากลัว