"หม่อมอุ๋ย"เผยรัฐตั้งเป้าศก.ไทยกลับมาโตได้ 5% ด้วยการวาง 3 รากฐานสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2015 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบ 1 ปี ต่อที่ประชุม แม่น้ำทั้ง 3 สาย คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี( ครม.) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 3 ด้าน โดยหวังให้ GDP กลับมาโตได้ปีละ 5% เหมือนเช่นในอดีต หลังจากเศรษฐกิจไทยในช่วง 6 ปีหลัง เติบโตได้เพียง 2% กว่าเท่านั้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยGDP ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เติบโต 2.1% และโตต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ที่ระดับ 3% ซึ่งเป็นผลจากการเดินหน้าการลงทุนภาครัฐ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการส่งออกยังคงติดลบ แต่เชื่อว่าเมื่อการส่งออกกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว เศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ 3-4 %

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกไทย นอกเหนือจากสภาวะเศรษฐกิจโลกแล้ว รองนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ว่า สาเหตุมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันตามนโยบายรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมีค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามค่าแรงที่สูงขึ้น

ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เพิ่มเติมมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า

ส่วนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลเน้นใน 3 ด้าน คือ 1.รัฐบาลได้ปรับแนวทางให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ และเพื่อเป็นสินค้าส่งออกมากขึ้นในตลาดใหม่ และยังไม่มีคู่แข่งมากนัก เช่น การส่งเสริมอาหารทางการแพทย์ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น 2.การปรับโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ IHQ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งศูนย์กลางบริษัทในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานในการกระจายการลงทุนไปในกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไป รวมถึงการเดินหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความคืบไปมาก โดยได้กำหนดพื้นที่ที่จะมีการจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมและเป็นพื้นที่ที่ให้ภาคเอกชนเช่าเพื่อประกอบกิจการและหวังให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษใช้เป็นแหล่งพักสินค้าขนาดใหญ่ตามแนวชายแดนด้วย และ 3.โครงการเศรษฐกิจดิจิตอล เน้นการสร้างบริษัทบรอดแบรนด์แห่งชาติ ให้เข้าถึงในทุกบ้าน โดยคาดว่าจะสามารถเข้าถึงทุกบ้านได้อย่างช้าสุดปี 2561 และจะมีการพัฒนาจัดตั้งคลังข้อมูลขนาดใหญ่ และเน้นพัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมทุกโรงเรียน

รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากสามารถวางรากฐานด้านเศรษฐกิจให้เติบโตตามเป้าที่วางไว้ อาจจะเกิดปัญหาแหล่งพลังงานไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องหาแหล่งก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้พยายามดำเนินการก่อนหน้านี้ แต่เมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน รัฐบาลจึงได้กลับไปพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจาณาและจะปรับแก้ให้มีการเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจจะลงทุนสามารถเลือกรูปได้ทั้งการขอสัมปทานหรือจะเป็นรูปแบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ PSC ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ