ทั้งนี้ การปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน และการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทหลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 รอบที่ผ่านมา น่าจะช่วยหนุนนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท.ยังคงบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่อานิสงส์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง เพื่อรอแรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนของเอกชน รวมทั้ง มาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัด
"การปรับอ่อนค่าลงของเงินบาท และการปรับลดลงของต้นทุนทางการเงิน น่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปคงจะขึ้นอยู่กับการเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง มาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัดที่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กนง.น่าจะรอติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อันสอดคล้องกับความเห็นของ รมว.คลัง ที่ส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันผ่อนคลายเพียงพอที่จะดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยลงอีกจะกระทบต่อผู้ออมเงิน
อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในปีนี้ อาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยจำกัดมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของไทยให้มีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจยังถูกครอบงำจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด อันอาจจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน และลดทอนผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินของไทยในช่วงนั้น ดังนั้น เชื่อว่า กนง.จะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อรอดูการส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-3 เดือนนี้
สำหรับปัจจัยอื่นที่ต้องติดตาม ได้แก่ การปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 58 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในวันที่ 19 มิ.ย.58 ซึ่งจะสะท้อนมุมมองของ ธปท.ที่มีต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หาก ธปท.ไม่ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 3.8% มากนัก ก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนโอกาสที่ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในปีนี้ แต่หาก ธปท.ปรับลดการขยายตัวของจีดีพีจากประมาณการครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ หรือโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ก็อาจจะบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ทาง กนง.จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้าได้
"หากโมเมนตัมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง หรือแรงสนับสนุนของมาตรการทางการคลังไม่เพียงพอที่จะผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ กนง.อาจจะพิจารณาในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ท่ามกลางสภาวะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำในระยะที่เหลือของปีนี้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ