ขณะที่การกำหนดอัตราค่าจ้างลอยตัวนั้นยังอยู่ระหว่างศึกษา และยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด
"อัตราค่าจ้างยังคงไม่มีการยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งยังคงยังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และอนาคตใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเป็นฐานในการปรับขึ้นค่าจ้าง"นายอารักษ์ กล่าว
โฆษกกระทรวงแรงงาน ออกมาแถลงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 19) มีมติให้ยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 59 และจะนำระบบค่าจ้างแบบลอยตัวมาบังคับใช้
"คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ยังไม่ได้มีมติให้นำระบบค่าจ้างแบบลอยตัวมาใช้แต่อย่างใด"
สำหรับการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 59 นายอารักษ์ เปิดเผยว่า ตามขั้นตอนอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด จะมีการพิจารณาจะมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. โดยพิจารณาตามภาวะค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ และหลักเกณฑ์ด้านอื่นๆประกอบ เช่น เรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต สภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น หลังจากนั้นอนุกรรมการวิชาการ จะมีการรวบรวมข้อมูลจากทุกจังหวัด เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค. ก่อนที่จะนำเข้าสู่อนุกรรมการค่าจ้างซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างประจำปี 59 โดยจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนต.ค.
"หากมีจังหวัดใดที่ยังไม่ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 59 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนั้นก็จะคงอยู่ที่วันละ 300 บาทต่อไป จะปรับลดต่ำกว่า 300 บาทไม่ได้"
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราค่าจ้างลอยตัว โฆษกกระทรวงแรงงานชี้แจงว่า เป็นเพียงผลการศึกษาที่คณะผู้วิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)ได้นำเสนอเท่านั้น ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีผลบังคับใช้ เป็นการการหาข้อดีข้อเสียในด้านต่างๆ เท่านั้น โดยหลักเกณฑ์การพิจาราอัตราค่าจ้างในปัจจุบัน จะมีการพิจารณาใน 3 รูปแบบ คือ 1.ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 2.ตามมาตราฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 35 สาขาอาชีพ และจะมีพิจารณาเพิ่มเติมอีก 20 สาขาอาชีพ และ 3.ค่าจ้างตามกลไกตลาด ซึ่งก็ต้องไม่ต่ำกว่า 300 บาท