นอกจากนี้ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูงจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา ซึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs หรือ OTOP จะผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้เพื่อการขยายตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์ หรืออาหารที่ทำจากสมุนไพรเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน(Niche Market)
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหารและอาหารแปรรูป นับเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญและสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากโดยในประเทศปี 2557 มีการบริโภคอาหารแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านการผลิต ด้วยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ ด้านทรัพยากรบุคคลในสายวิชาการและแรงงานที่มีฝีมือ ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย ส่งผลให้ไทยมีศักยภาพส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารต่อปีได้ปริมาณมาก
ดังนั้น กสอ. จึงเดินหน้าโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปโดยเน้นการนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหาร ตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าอาหาร (Value Food Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จากหน่วยงานต่างๆ มาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์โดยการเลือกใช้วัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตรผ่านกระบวนการแปรรูป ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหาร อาทิ ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม เนื้อสัตว์ และอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าว อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ การพัฒนาให้มีคุณค่า อาหารมีความปลอดภัย การยืดอายุผลิตภัณฑ์ รูปแบบ รสชาติ ฯลฯ ตลอดจนสามารถจัดทำเป็นต้นแบบสินค้าใหม่ให้มีความแตกต่างในตลาด ซึ่งคาดว่าหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ ผู้ประกอบการจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดังกล่าวได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ด้านมูลค่ายอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้ ตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อาทิอาหารชีวจิต อาหารอินทรีย์หรืออาหารออร์แกนิกอาหารที่ปลอดสารพิษ อาหารสุขภาพเฉพาะกลุ่ม อาทิ อาหารสำหรับคนเป็นโรคหัวใจ อาหารลดไขมัน ผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูงฯลฯ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยในส่วนของสถานการณ์ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในประเทศมีมูลค่าตลาดราว 7.93 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.53 ของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั้งหมด และคาดว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพสำเร็จรูปในไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 14 ภายในปี 2558 (ข้อมูล : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร 2557)
ปี 2557 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 9.15 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบจากปีก่อน สำหรับตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ อาเซียน คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของการส่งออกทั้งหมด รองลงมาเป็น ญี่ปุ่นและจีน คิดเป็นร้อยละ 12.9 และ12 ตามลำดับ