ขณะที่เงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 680% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 50,230 ล้านบาท โดยมีกิจการขนาดใหญ่ที่มีขนาดเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนรวม 63 โครงการ เงินลงทุน 227,680 ล้านบาท
สำหรับประเภทกิจการที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วย กิจการบริการและสาธารณูปโภค 261 โครงการ เงินลงทุน 136,940 ล้านบาท กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 144 โครงการ เงินลงทุน 67,170 ล้านบาท กิจการ ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 213 โครงการ เงินลงทุน 65,920 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ 220 โครงการ เงินลงทุน 61,320 ล้านบาท กิจการอุตสาหกรรมเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 175 โครงการ เงินลงทุน 29,970 ล้านบาท กิจการกลุ่มอุตสาหกรรมเบา 59 โครงการ เงินลงทุน 16,570 ล้านบาท และกิจการในกลุ่มแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน 22 โครงการ เงินลงทุน 13,820 ล้านบาท
"การอนุมัติลงทุนในช่วง 5 เดือน ส่วนใหญ่ยังเป็นกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 จนถึงต้นปี 2558 ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้ทยอยอนุมัติการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินหน้าลงทุนและเปิดกิจการให้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และมั่นใจว่าตั้งแต่กลางปีไปจนถึงปลายปีนี้จะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนจริงได้ชัดเจนขึ้น" นางหิรัญญา กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวว่า สำหรับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 5 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 306 โครงการ เงินลงทุน 48,250 ล้านบาท โครงการลดลง 35% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 471 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนลดลง 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 297,920 ล้านบาท
ทั้งนี้จำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่หรือมากกว่า 54% ของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด เป็นกิจการที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลและบีโอไอ โดยเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมอนาคตที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน กิจการซอฟต์แวร์ ทั้งในส่วนเอ็นเตอร์ไพรซ์ซอฟต์แวร์ (Enterprise Software) และดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น