"เดิมเรามองบาทไว้ ณ สิ้นปีที่ 34.00 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้เราปรับเป็น 34.25 บาท/ดอลลาร์ จากผลที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ย และมีมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งขึ้นกับการปรับดอกเบี้ยของเฟดเป็นหลัก" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่อาจจะไม่อ่อนค่าลงไปอีกมากนัก เหตุไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ แต่ปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งอาจจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากกว่านี้คือ ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยมีตัวอย่างให้เห็นจากอินโดนีเซีย ซึ่งจากข่าวที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย.หรือ ต.ค.ปีนี้ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มปรับพอร์ต ถอนเงินออกจากตลาดพันธบัตรในภูมิภาคนี้
"ถามว่าเราจะเจอศึกหนักหรือไม่นั้น จะเห็นว่าต่างชาติถือพันธบัตรของไทย 18% ของที่มีทั้งหมด ต่ำกว่าของอินโดนีเซียที่มีต่างชาติถือพันธบัตรประมาณ 30% ดังนั้นเมื่อต่างชาติจะถอนทุนออกไป เราคงได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอินโดฯ และมาเลเซีย" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่ามีความเหมาะสม ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกมีมูลค่ามากกว่าสินเชื่อใหม่ 16-17 เท่า ดังนั้นหากบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดได้มีประสิทธิภาพมากกว่า
ตอนนี้เงินเฟ้อยังติดลบอยู่ 1% กว่าๆ ซึ่งการที่ทำให้เงินบาทอ่อนก็ยังไม่ทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในการพยุงเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มสภาพคล่องผ่านช่องทางการท่องเที่ยวหรือการส่งออก น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด
"เศรษฐกิจในไทยขณะนี้เปรียบเสมือนรถยนต์ที่กำลังซ่อมอยู่ในอู่ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริโภคที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างชัดเจนนักจากผลพวงของปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมทั้งยังรอความชัดเจนในเรื่องการเบิกจ่ายของภาครัฐ"นายกอบสิทธิ์ กล่าว