ในการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีประจำเวที ECF ประเทศสมาชิกเข้าร่วม ได้แก่ นายซุน ชันทอล รัฐมนตรีอาวุโส กระทรวงพาณิชย์ ราชอาณาจักรกัมพูชา, นายสมดี ดวงดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, นางเล เล เตย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นายเหวียน ฉี สุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายสตีเฟน กรอฟ รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยมี นาย เกา หู่ เชิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก GMS ทั้ง 6 ประเทศ รวมทั้งองค์กรผู้ร่วมพัฒนาต่างๆ เข้าร่วมการประชุมฯ อีกกว่า 200 คน
โดยที่ประชุมฯ รัฐมนตรี ECF ได้ให้ความเห็นชอบต่อแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเวทีหารือเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7 (Joint Ministerial Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ นายอาคมได้รายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทยต่อที่ประชุมฯ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นตามแนวพื้นที่ชายแดนระเบียงเศรษฐกิจของแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่ง 8 ใน 10 จังหวัดเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังได้รายงานความก้าวหน้าการหารือกับฝ่ายกัมพูชาเพื่อร่วมพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนร่วมกัน ซึ่งต่างเห็นพ้องให้ร่วมดำเนินการในลักษณะ “ส่งเสริมซึ่งกันและกัน" เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายหรือ Win-Win Situation ทั้งนี้ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ในอันที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น เพื่อร่วมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ตามแนวทางไทย-กัมพูชา ต่อไปด้วยเช่นกัน ในการนี้ เหล่ารัฐมนตรี ECF ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการดำเนินงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
2.การอำนวยความสะดวกการคมนาคมขนส่งและการค้าในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะเร่งรัดการบริหารจัดการด่านชายแดนให้มีความบูรณาการระหว่างหน่วยงานมากขึ้น ส่งเสริมการขนส่งระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเจรจาร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก GMS เพื่อเพิ่มสิทธิทางจราจรและเพิ่มจำนวนเส้นทาง และจุดผ่านเข้าออกของคนและสินค้าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจให้มากขึ้น ในโอกาสนี้นายอาคมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า รัฐบาลได้เร่งรัดให้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่อภาคผนวกและพิธีสารภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS Cross Border Transport Agreement (CBTA) ครบถ้วนทั้ง 20 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2558 แล้ว ทั้งนี้ ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ประเทศไทยและกัมพูชาได้เดินหน้าการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจเริ่มใช้ความตกลง CBTA ระหว่างไทย-กัมพูชา ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในการเพิ่มโควต้าการเดินรถระหว่างกันจาก 40 คันเป็น 500 คัน โดยจะมีผลในทันทีหลังจากที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ
นอกจากนี้ได้เสนอในที่ประชุมฯ ให้เพิ่มเส้นทางหมายเลข 12 (นครพนม-ท่าแขก-นาเพา-จาลอ-จ.ฮาติงห์-ท่าเรือหวุงอัน) เข้าไว้ในบันทึกความเข้าใจเริ่มใช้ความตกลง CBTA ไทย-ลาว-เวียดนาม เนื่องจากเป็นประโยชน์ทางธุรกิจของภาคเอกชน GMS รวมทั้งให้เสนอให้เริ่มเจรจาในส่วนที่ยังค้างคาอยู่ภายใต้ความตกลงการเดินรถสามฝ่ายระหว่างไทย-ลาว-จีน ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ณ จุดผ่านแดนเชียงของ-ห้วยทราย-บ่อเต็น-โมฮาน เพื่อให้สามารถเปิดการเดินรถได้จริงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ต่อไป นอกจากนี้ รมช.อาคม ยังได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางความเชื่อมโยงใน อนุภูมิภาคร่วมกับประเทศ GMS เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างประเทศและอำนวยประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการปรับปรุงก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าเป็นเส้นทางแรกที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ ควบคู่ไปกับโครงการปรับปรุงก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ
3.รัฐมนตรี ECF ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่เฉพาะ (Section-Specific Concept Plan) ของแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยเห็นว่าเป็นการต่อยอดที่สำคัญของการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 (5th GMS Summit) ที่ตกลงให้พัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ที่มีความพร้อมโดยให้ส่วนท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายอาคม กล่าวว่า กรณีของไทยโดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รัฐบาลไทยได้เร่งรัดการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองเพื่อรองรับการเปิดด่านใหม่เพื่อลดความแออัดของปริมาณการจราจร และจัดระบบบริหารจัดการรถบรรทุกและผู้โดยสารออกจากกัน ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายดำเนินการให้ด่าน อ.แม่สอด และด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เป็น 2 ด่านแรกที่มีความสำคัญสูง
4.รัฐมนตรี ECF ให้ความเห็นชอบข้อเสนอของจีนที่เสนอให้เพิ่มความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ภายในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยรัฐบาลจีนจะจัดประชุมเพื่อนำเสนอรายละเอียดของโครงการอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวให้การสนับสนุนและให้ความเห็นว่า โครงการความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีความสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลไทย และเสนอให้จีนจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจนใน 4 เรื่องคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการคุ้มครองผู้บริโภค
อนึ่ง ในวันที่ 10 มิถุนายน 2558 มณฑลยูนนานและกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีหารือระดับผู้ว่าราชการจังหวัด (Governors’ Forum) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายในหมู่ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าแขวง ผู้ว่าการมณฑล ผู้ว่าการรัฐ ประเทศสมาชิก GMS และหน่วยงานระดับท้องถิ่นตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นกลไกในการระดมแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแนวทางยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจด้วยต่อไป โดยการประชุมฯ มีผู้เข้าร่วมการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าแขวง ผู้ว่าการมณฑล ผู้ว่าการรัฐจากประเทศสมาชิกใน GMS จำนวนกว่า 30 คนเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจำนวน 11 จังหวัด (เชียงราย พะเยา กาญจนบุรี ขอนแก่น มุกดาหาร นครพนม หนองคาย ตาก พิษณุโลก สระแก้ว และตราด) ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว
ที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าแขวง และผู้ว่าการมณฑล ได้ให้การรับรองฉันทามติ (Consensus) ในอันที่จะร่วมกันประสานการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและสังคมของทุกภาคส่วน ในพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยต่างได้ร่วมเน้นย้ำการพัฒนาในประเด็นการเชื่อมโยงการผลิตอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร ความร่วมมือในเขตนิคมอุตสาหกรรม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาโครงการสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ และเห็นชอบที่จะให้จัดการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ECF เป็นประจำทุกปี เพื่อหารือในเรื่องเชิงนโยบายและโครงการความร่วมมือต่างๆ รวมถึงเป็นกลไกในการติดต่อและประสานงานระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนด้วย
การประชุมระดับรัฐมนตรีเวทีหารือเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 7 ของแผนงาน GMS ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะแสดงความพร้อม ความน่าเชื่อถือ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคในเชิงรุก ซึ่งการประชุมดังกล่าว เปิดโอกาสให้เหล่ารัฐมนตรี ECF ได้ร่วมทบทวนและประเมินผลความคืบหน้าของแผนงานการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจใน GMS ร่วมยืนยันความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและเป้าหมายร่วมกัน ให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่แผนงาน และโครงการกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งมอบแนวทางในภาพรวมแก่แผนงานการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ภายใต้แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศในระยะต่อไป
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเวทีหารือเพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 8 กำหนดจัดขึ้น ณ ประเทศกัมพูชา ในปี 2559