นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานสลากฯ จัดพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลทดแทนการพิมพ์สลากการกุศล 22 ล้านฉบับ ที่จะหมดอายุก่อนงวดวันที่ 1 ก.ย.58 เนื่องจากยังไม่มีมติจากคณะรัฐมนตรีในการพิมพ์สลากการกุศล โดยการพิมพ์ดังกล่าว คณะกรรมการต้องการนำสลากฯ เข้ามาทดแทนให้มีสลากฯ ต่องวดครบ 74 ล้านฉบับ ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดกระทบต่อการซื้อขายสลากฯ ของผู้ค้าและผู้ซื้อสลากฯ ในแต่ละงวด
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า บอร์ดสลากฯ มีมติจัดสรรสลากฯ 22 ล้านฉบับให้กับรายเดิม แต่ปรับเปลี่ยนการจัดสรรและเวลาการทำสัญญา โดยหากเป็นมูลนิธิ องค์กร ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการจะได้รับการจัดสรรตามเดิม แต่หากเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคล ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสมาคมผู้พิการ จะถูกตัดโควตาลง 30-50% พร้อมกันนี้ได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ค้าสลากต้องมาทำสัญญาใหม่เพียง 4 เดือนเท่านั้น จากเดิม 2 ปี ซึ่งทำให้สัญญาใหม่ที่ต่อในรอบนี้จะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.58
"ทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลทั้ง 74 ล้านฉบับ จะได้รับการจัดสรรโควตาใหม่ทั้งหมดพร้อมกันในเดือนม.ค.59 ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการที่จัดสรรใหม่นี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาสลากฯ แพงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" โฆษกคณะกรรมการสลากฯ กล่าว
พร้อมระบุว่า การปรับเปลี่ยนการจัดสรรโควตาสลากฯ ใหม่นี้ จะทำให้สำนักงานสลากฯ มีรายได้ส่งเข้าคลัง 4 เดือน อยู่ที่ 1,408 ล้านบาท และมีสลากฯ เพิ่มขึ้น 19,000 เล่ม ซึ่งในส่วนนี้จะนำมาจัดสรรให้กับสมาคมกีฬาผู้พิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ 12,000 เล่ม และสมาคมกีฬาผู้พิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย 7,000 เล่ม โดยจะใช้วิธีการสุ่มให้กับผู้พิการที่เคยลงทะเบียนไว้เป็นอันดับแรก
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงการจัดสรรสลากฯ ให้กับผู้ค้าจำนวน 4 แสนรายที่เคยขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี 57 โดยยืนยันว่ายังคงมีการสุ่มโควตาให้กับผู้พิการรายย่อยเช่นเดิม ล่าสุดได้เรียกสุ่มมาแล้ว 12,000 ราย พร้อมทั้งการจัดสรรโควตาใหม่จะทำให้มีสลากฯ เพิ่มเข้ามาให้กับโควตาของรายย่อยอีก 1,000 เล่ม โดยยืนยันว่าหลังจากจัดสรรโควตาสลากฯ 74 ล้านฉบับ จะทำให้มีผู้ค้ารายย่อยรายใหม่ได้รับการจัดสรรสลากเพิ่มขึ้น 2,800 ราย หรือ 14,000 เล่ม และโควตาสำหรับผู้พิการ 2,800 ราย หรือ 14,000 เล่ม