และในวันนี้ได้มีการประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 43 ราย แต่ปรากฎว่ามีผู้มายื่นซองเสนอราคาจำนวน 40 ราย ใน 109 คลัง แบ่งเป็น ผู้เสนอราคาที่ผ่านเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำ(Floor Value:FV) จำนวน 107 คลัง ประมาณ 840,000 ตัน(คิดเป็นร้อยละ 79 ของปริมาณที่เปิดประมูล) มูลค่าประมาณ 7,800 ล้านบาท และไม่ผ่าน FV ใน 2 คลัง ประมาณ 15,800 ตัน โดยในครั้งนี้มีคลังที่ไม่มีผู้เสนอราคา รวม 44 คลัง จาก 153 คลัง ประมาณ 209,000 ตัน
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะรวบรวมผลการเสนอซื้อที่มีมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลังเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.) เพื่อพิจารณาผลการเสนอซื้อ ก่อนแจ้งผลการประมูลข้าวสารในสต็อกของรัฐอย่างเป็นทางการให้ผู้ชนะการประมูลทราบต่อไป
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการเปิดซองเสนอราคาประมูลข้าวสารสต๊อกรัฐบาล ครั้งที่ 3/2558 ปริมาณ 1.06 ล้านตัน จาก 153 คลังว่า ข้าวที่ขายได้ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% โดยนำมาเปิดประมูล 5.6 แสนตัน ขายได้ 5.45 แสนตัน และปลายข้าว นำมาเปิดประมูล 3.3 แสนตัน ขายได้ 2.6 แสนตัน ที่เหลือเป็นข้าวชนิดอื่นๆ และถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะขายได้ 79% ของปริมาณข้าวที่นำมาเปิดประมูลทั้งหมด ดีกว่า 2 ครั้งก่อนหน้าที่ขายได้ประมาณ 50% ของข้าวที่นำมาประมูล
ส่วนราคาเฉลี่ยที่ประมูลได้ในครั้งนี้ เป็นราคาที่สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาด และได้หักค่าเสื่อมสภาพแล้ว
ทั้งนี้ กรมฯ จะทำการรวบรวมรายชื่อผู้ที่เสนอซื้อมูลค่าสูงสุดในแต่ละคลัง เสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาผลการเสนอซื้อ คาดว่าน่าจะภายในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ก่อนที่จะแจ้งผลการประมูลข้าวให้กับผู้ที่ชนะการประมูลต่อไป
น.ส.บรรจงจิตต์ กล่าวว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ กรมฯ ได้เปิดประมูลข้าวมาแล้วจำนวน 7 ครั้ง รวมครั้งนี้ด้วย โดยสามารถระบายข้าวได้ประมาณ 2.88 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท และเตรียมเปิดประมูลข้าวครั้งต่อไปอีกในเดือนก.ค.2558 ปริมาณรวมประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งหากสามารถระบายได้หมด ก็จะทำให้ระบายข้าวในสต๊อกออกไปได้ประมาณ 4 ล้านตัน
สำหรับข้าวที่เหลืออีก 13-14 ล้านตัน ที่เป็นข้าวด้อยคุณภาพ กรมฯ อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบาย ซึ่งหากเป็นข้าวที่ยังสามารถปรับปรุงคุณภาพได้ก็จะคัดแยกออกมาจำหน่าย แต่หากปรับปรุงไม่ได้ ก็จะระบายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ไปทำอาหารสัตว์หรือผลิตเอทานอล และหากเป็นข้าวเสีย ก็อาจจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น