การจัดงานในครั้งนี้นอกเหนือจากการออกร้านของผู้ประกอบการไทย-มาเลเซีย จำนวน 300 ร้านค้าแล้ว ได้มีการจัดประชุมหารือระหว่างภาครัฐระหว่างไทย-มาเลเซีย โดยทางมาเลเซีย ดาโต๊ะซูลกิฟลี มามุด ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้นำคณะผู้แทนการค้ามาเลเซีย เข้าเยี่ยมคารวะและหารือร่วมกับ พล.อ.ดิฏฐพร ศศะสมิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทย
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดประชุมระหว่างภาคเอกชนไทย-มาเลเซียเพื่อเป็นเวทีสำหรับเจรจาธุรกิจด้วย โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังได้ตรวจดูความพร้อมของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งพบว่าโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกมีความพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะด่านการค้าที่สำคัญ ได้แก่ ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นด่านส่งออกอันดับ 1 และอันดับ 2 ของไทย ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณปีละ 3.5 แสนล้านบาท และ 1.5 แสนล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ท่าเรือสงขลาที่ให้บริการสำหรับเรือขนส่งสินค้าไปขึ้นเรือใหญ่ที่สิงคโปร์เพื่อส่งสินค้าต่อไปทั่วโลกได้มีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งปั้นจั่นให้บริการหน้าท่า เพื่อลดต้นทุนค่าระวาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
ในการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนในครั้งนี้ เป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายมาเลเซีย ดาโต๊ะซูลกิฟลี มามุด ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของมาเลเซีย ได้กล่าวแสดงความชื่นชมการจัดงานซึ่งได้บูรณาการการจัดงานในหลายส่วนไปพร้อมๆกันและเกิดผลดีต่อนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศพร้อมทั้งสนับสนุนให้จัดงานมหกรรมการค้าชายแดนในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยฝ่ายมาเลเซียเสนอขอเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ณ รัฐกลันตันในปีหน้า ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการค้าไทย-มาเลเซียให้สามารถขยายตัวได้เป็นอย่างดี
สำหรับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียในปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 507,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และคิดเป็นร้อยละ 62 ของการค้ารวมไทย-มาเลเซีย แยกเป็นการส่งออก 274,992 ล้านบาท การนำเข้า 232,663 ล้านบาท สำหรับในปี 2558 (มค.-เม.ย.) การค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย มีมูลค่า 154,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการส่งออก 81,000 ล้านบาท การนำเข้า 73,000 ล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็นต้น
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในลักษณะลงพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น จะดำเนินการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราดและหนองคายในโอกาสต่อไป สำหรับการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนครั้งต่อไปในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากผู้ประกอบการไทย-มาเลเซีย กระทรวงพาณิชย์จะได้พัฒนารูปแบบการจัดงาน โดยจะนำธุรกิจด้านบริการและกิจการแฟรนไชส์ อาทิ ร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล ศูนย์ความงาม และอื่น ๆ มาเป็นกิจกรรมหลักเพื่อเป็นการแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อนำไปสู่การเจรจาธุรกิจในระดับสากลต่อไป ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการค้าชายแดนค้าผ่านแดนและการค้าเมืองหน้าด่านเป็น 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2558