ขณะที่จะเห็นความชัดเจนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นร่วมลงทุนภายในปีนี้ ส่วนรถไฟขนาดรางมาตรฐานเส้นกรุงเทพฯ-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ที่รัฐบาลจีนให้ความร่วมมือนั้น มั่นใจจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 58
ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน เตรียมเปิดประมูลในก.ย.58 เปิดให้เอกชนไทยเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้มีหลายรายให้ความสนใจ พร้อมทั้งสั่งให้ 5 จังหวัดหัวเมืองใหญ่จัดการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก โดยอาจเป็นระบบรถไฟฟ้าหรือรถราง
อีกทั้งงานพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 เร่งรัดได้ข้อสรุปแล้วว่าจะดำเนินการทั้งก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ระยะทาง 3.7 กิโลเมตร พร้อมกับอาคารผู้โดยสารเฟส 2 ไปด้วย และยังรวมงานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3
"ต้นปี 59 จะเห็นเริ่มการลงมือก่อสร้างโครงการต่างๆ แต่ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์หรือเป็นรูปธรรมทั้งหมด จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ในปลายปี 60 หรือต้นปี 61 จะทยอยเห็นโครงการเสร็จไปเรื่อยๆ"พอ.อ.อ.ประจิน ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
*ปรับแผนงานตามยุทธศาสตร์ 8 ปีสอดคล้องงบฯต้นเหตุล่าช้า,เข้าสู่ช่วงเร่งรัด
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า นับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 11 ก.ย.57 หรือประมาณ 6-7 เดือนที่ผ่านมา งานส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหามากกว่าจะมีโอกาสเดินหน้างานตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะเวลา 8 ปี(ปี 58-65)ตามที่กำหนดแผนแม่บทและวางกรอบเวลาการทำงานไว้อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลนกรุงเทพ(ขสมก.)จำนวน 489 คัน จากเดิมก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะเข้ามาก็มีการปรับทีโออาร์มา 11 ฉบับแล้ว และปัจจุบันก็ปรับเป็นฉบับที่ 13 กว่าจะสามารถเปิดประมูลสำเร็จ
ประกอบกับ การกำหนดแผนงานจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับงบประมาณ ทำให้ต้องมาปรับปรุงแผนกันใหม่ ส่งผลให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องถูกเลื่อนออกมาอย่างต่อเนื่อง จากเบื้องต้นวางเป้าหมายภายในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 58(ต.ค.-ธ.ค.57)ก็เลื่อนมาในไตรมาส 2 ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.58 แต่ก็ไม่สำเร็จ ล่าสุดเลื่อนแผนงานมาในไตรมาส 3 ช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย.58)
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ต้องการให้โครงการไปกระจุกตัวในไตรมาส 4 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.58 จึงต้องปรับแผนให้มาอยู่ในไตรมาส 3 ให้ได้มากขึ้น หรือภายในเดือน มิ.ย.นี้ โดยงานที่ปรับแผน ได้แก่ การเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ อย่างน้อย 2-3 เส้นทางให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากทั้งหมด 6 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้เส้นทาง ชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. วงเงินโครงการ 2.6 หมื่นล้านบาทได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว
กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างเร่งรัดจัดหาผู้เดินรถรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และการเร่งเจรจาระหว่างผู้รับเหมาญี่ปุ่นกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ในโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ สัญญาที่ 3 ให้ยุติโดยเร็ว
ขณะที่โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ที่เหลือปีนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน จากนั้นในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.58 จะเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เข้า ครม.คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะเปิดประมูลได้ภายในปลายปีนี้
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นพ้องกันที่จะเดินหน้าก่อสร้างทางวิ่งหรือรันเวย์สำรองแล้ว จากที่เคยคาดว่าจะชะลอออกไป 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นต้องมีรันเวย์สำรองเพื่อรองรับสถานการณ์เมื่อรันเวย์ที่ 1 และ 2 ต้องปิดซ่อมบำรุง เพราะใกล้ครบ 10 ปีตามกำหนดแล้ว โดยจะรายงานความคืบหน้าให้ ครม.รับทราบเพื่อให้บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)ดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ รันเวย์สำรองจะมีความยาว 3.7 กม.ปรับจากขนาดเดิม 2.9 กม.ใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะต้องเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA)ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะดำเนินโครงการไปพร้อมกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงินลงทุนประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท ทั้งสองส่วนนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 59
*ความร่วมมือรถไฟไทย-จีนเดินหน้าเร็วปักหมุดสร้างปีนี้,รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกลางปี 59
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นและเร็วผิดคาด คือความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในโครงการระบบราง จากเบื้องต้นที่เคยคาดว่าการทำโครงการใหญ่คงต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่กลับได้รับการตอบรับจากทางการจีนหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาไม่นาน และมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนว่าด้วยโครงการความร่วมมือของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.57
อนึ่ง รัฐบาลจีนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปีในโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยเป็นความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล(G to G)
"มีความมั่นใจในการสำรวจออกแบบในปี 58 จะเสร็จหมด และสามารถเริ่มก่อสร้างในส่วนที่ 1 ได้ในปลายปี 58 ที่เหลือทยอยก่อสร้างในปี 59"รมว.คมนาคม กล่าว
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า โครงการนี้จะประเมินวงเงินลงทุนทั้งหมดได้ราวเดือน ก.ย.58 หลังจากทำการสำรวจเสร็จสิ้น จากนั้นจะนำเสนอเข้า ครม.และกฤษฎีกาในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ ในเวลาเดียวกันก็เตรียมร่างสัญญาควบคู่กันไปด้วย เมื่อทุกอย่างพร้อมก็จะลงนามสัญญาร่วมกัน คาดว่าราวกลางเดือน ต.ค.58 และเริ่มก่อสร้าง ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นดำเนินการหลักในด้านงานโยธา
สำหรับความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น เป็นการสานต่อจากการหารือกันมานานตั้งแต่ปี 55 ช่วงรัฐบาลชุดก่อนๆ จนถึงมีการตั้งคณะทำงานระดับปลัดกระทรวง และเมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOC)ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงคมนาคมที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น
ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะจัดตั้งคณะทำงานและวางกรอบการทำงานร่วมกัน จากนั้นจะใช้เวลา 10 เดือนสำรวจและออกแบบหรือภายในเดือน เม.ย.59 และอีก 2-3 เดือนดำเนินด้านธุรการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค.59 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี
แหล่งเงินสนับสนุนของทางญี่ปุ่นมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ธนาคารเพี่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น(JBIC), องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency-JICA) และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศญี่ปุ่น(Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation For Transport and Urban Development-JOIN)
"แหล่งเงินเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า แต่เงินลงทุนโครงการของญี่ปุ่นสูงกว่าจีน ดังนั้นกระทรวงจะนำมาพิจารณาด้วย ไม่ใช่มองแค่ดอกเบี้ยถูก"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ขณะที่เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตอนล่าง ช่วงกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพ-อรัญประเทศนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดไว้ยุทธศาสตร์ว่าจะเป็นขนาดราง 1 เมตร หรือขนาดรางมาตรฐาน หากใช้ขนาดราง 1 เมตรจะดำเนินการได้เร็ว เพียงเติมเต็มเส้นทางขาดหาย หรือ missing link และเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณ เป็นระบบดิจิตอลแทน แต่ถ้าเป็นขนาดรางมาตรฐาน คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจประมาณ 6 เดือน
ส่วนเส้นทางอื่น ได้แก่ เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร เป็นต้น จะเป็นการร่วมศึกษาความเป็นไปได้และร่วมสำรวจเท่านั้น
รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเส้นท่องเที่ยวขณะนี้มี 2 เส้นทางที่เตรียมจะเสนอ ครม.ในเดือน มิ.ย.นี้ ขณะนี้แผนงานคืบหน้าไป 70% คือ กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 211 กม.วงเงินลงทุน 8.1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และอีกเส้นทางคือ กรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 129.1 กม. วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA เช่นกัน โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการหลักผ่านสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)
ทั้งสองเส้นทางดังกล่าว คาดว่าภายในดือน ก.ย.นี้น่าจะเปิดประมูลได้ โดยที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายให้ความสนใจ อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น และมีแนวโน้มจะร่วมมือกันในรูปแบบคอร์ซอเทียมเพื่อเข้ายื่นประมูลโครงการ
*เร่งภูเก็ต-เชียงใหม่-โคราช-ขอนแก่น-พิษณุโลกทำรถไฟฟ้า-รถรางแก้จราจร
พล.อ.อ.ประจิน ยังเปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมยังได้มองการแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ โดยปีนี้เร่งให้ 5 จังหวัดดำเนินการ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น และพิษณุโลก โดยมอบหมายให้ สนข.ศึกษาร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่
ในส่วนของภูเก็ต ทำการสำรวจแล้วและคาดว่าจะทำโครงการรถไฟรางเบา ส่วนเชียงใหม่ ทำแผนแก้ปัญหาโดย สนข.เป็นผู้ให้คำแนะนำ ซึ่งแจ้งมาว่าใกล้จะแล้วเสร็จ โดยทางกระทรวงไม่ได้จำกัดรูปแบบโครงการว่าจะต้องเป็นรถไฟฟ้า แต่อาจจะทำเป็นรถบัสล้อยางวิ่งบนรางก็ได้ เพราะต้องการให้ทางท้องถิ่นเป็นผู้คิดแก้ปัญหาก่อน เพราะขณะนี้ภูเก็ตและเชียงใหม่เกิดปัญหาจราจรค่อนข้างมากแล้ว ทั้งนี้ หากเห็นชอบตรงกับกระทรวงคมนาคม ก็จะนำเสนอต่อ ครม.เพื่ออนุมัติต่อไป
"ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานดีจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกการเดินทาง ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ...เปลี่ยนคุณภาพชีวิตในการเดินทางดีขึ้น ลดความเสี่ยงแออัดอยู่บนถนน มีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น ความเครียดน้อยลง อุบัติเหตุน้อยลง ในด้านความมั่นคงกับชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้น ไปถึงเศรษฐกิจ คนมั่นใจก็กล้ามาลงทุน ชุมชนก็มั่นใจ ก็เกิดการพัฒนาเมือง ถ้าเราทำดี ลดพลังงาน ดูแลสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม เศรษฐิจ ท่องเที่ยว ความมั่นคงประเทศ และการเชื่อมต่ออาเซียน ทุกอย่างเกิดเป็นผลประโยชน์ คนจะมีความสุขแน่นอน คนจะต้องมีทางเลือกมากขึ้น ให้เหมาะกับสถานะของตัวเอง"พล.อ.อ.ประจิน กล่าวในที่สุด