อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในทั้งสองประเทศน่าจะสามารถรับมือกับแรงกดดันจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจปรับตัวแย่ลงได้ดีกว่า (เมื่อเทียบกับธนาคารรัฐหรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร) เนื่องจากฐานลูกค้ามีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า อีกทั้งยังมีฐานะเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและน่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
อัตราส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ของทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ 86% และ 87% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2557 แม้ว่าระดับการเติบโตของหนี้สินภาคครัวเรือนของทั้งสองประเทศจะมีการชะลอตัวลงในช่วงสองปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม หนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงปี 2553-2556 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดภาษีการซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัย ในขณะที่การเติบโตของหนี้สินภาคครัวเรือนในประเทศมาเลเซียมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่เอื้ออำนวยและความต้องการสินเชื่อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
การเติบโตของสินเชื่อภาคครัวเรือนได้เริ่มมีการชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 6.5% สำหรับประเทศไทยและ 9.9% สำหรับประเทศมาเลเซียในปี 2557 จาก 18.0% และ 13.9% ตามลำดับ ในปี 2555 สำหรับประเทศมาเลเซียการชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคครัวเรือนดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมการขยายสินเชื่อภาคครัวเรือนที่สูงเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ
ฟิทช์มองว่าการเติบโตที่ชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นปัจจัยบวกจากมุมมองด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจากการชะลอตัวลงดังกล่าวจะช่วยชะลอไม่ให้สินเชื่อภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามระดับสินเชื่อภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เนื่องจากอุปสงค์ของสินเชื่อเพื่อการบริโภคไม่น่าจะปรับตัวลงต่ำกว่าการเติบโตของ GDP ของทั้งสองประเทศมากนัก
ระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางมากขึ้นต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งได้ส่งผลให้มีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นบ้างแล้วสำหรับธนาคารพาณิชย์บางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ทั้งนี้ระดับของการปรับตัวแย่ลงของคุณภาพสินทรัพย์น่าจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงาน และกลุ่มลูกหนี้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะมีความเสี่ยงมากขึ้นทั้งในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าธนาคารพาณิชย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่และมีโครงสร้างธุรกิจที่กระจายตัว) น่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงได้ ในกรณีของประเทศมาเลเซียการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับปานกลางและอัตราการจ้างงานที่มีเสถียรภาพน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพสินทรัพย์ในระยะสั้น แต่หนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบเชิงลบในระยะปานกลาง หากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับประเทศไทยการเติบโตของเศรษฐกิจที่อ่อนแอ การผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในด้านสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำของธนาคารบางแห่ง ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้แนวโน้มของภาคการธนาคารยังคงเป็นลบต่อไป อีกทั้งยังจะส่งผลให้ความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มมากขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง