พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดลองวิ่งจะนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดหารถเมล์ในล็อตต่อไป โดยตามแผนคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติให้ขสมก.ดำเนินการจัดหารถโดยสารใหม่จำนวน 3,183 คัน โดยแบ่งล็อตแรกจัดหาเป็นรถใช้ก๊าซ NGV จำนวน 489 คัน ขณะที่รถเมล์ไฟฟ้าถือเป็นอีกทางเลือกตอบรับกระแสการประหยัดพลังงานและลดมลภาวะ
จากการทดสอบพบว่ารถโดยสารไฟฟ้าใช้แบตเตอร์รี่ขับเคลื่อนมีความแข็งแรงทนทานเช่นเดียวกับรถใช้เครื่องยนต์ดีเซลและ NGV โดยแบตเตอรี่มีอายุใช้งานกว่า 10 ปี สามารถวิ่งได้ต่อเนื่อง 250-300 กม. ชาร์จแบต 5 ชม. แม้ว่าราคาสูงกว่ารถดีเซลและ NGV ประมาณ 2-3 เท่า แต่ค่าซ่อมบำรุงต่ำกว่า เพราะการซ่อมบำรุงไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนค่าพลังงานประมาณ 4-5 บาท/กม. ขณะที่ NGV 8 .5 บาท/กม. น้ำมันดีเซลกว่า 18 บาท/กม.
ทั้งนี้ จะมีนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา เพื่อกำหนดจำนวนรถและประเภทรถเมล์ที่จะจัดหาต่อไปว่าจะเป็นรถใช้ NGV เท่าไร ใช้ไฟฟ้าเท่าไร เบื้องต้นจะสรุปผลในเดือนก.ค.นี้ เพื่อนำเสนอครม.ในเดือนส.ค.พร้อมกันนี้จะต้องเตรียมวางแผนในการศึกษาในเรื่องศูนย์ซ่อมและศูนย์ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ พร้อมทั้งกำหนดเป็นแผนแม่บทให้คบวงจรต่อไปด้วย
“ขณะนี้มีกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้สำหรับการจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คัน ที่ 1.3 หมื่นล. ใช้สำหรับ 489 คัน ไปประมาณ 1.7 พันล. ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า จะต้องดูงบลงทุนที่มีประกอบด้วย ว่าจะจัดหารถเมล์ไฟฟ้าได้จำนวนเท่าไร พอกับความต้องการหรือไม่ ถ้าลดจำนวนรถไม่ได้ ต้องขอเพิ่มกรอบวงเงิน หรือถ้าสามารถให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดหาบางส่วนหรือประเมินจากโครงการรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น อาจจะจัดหาในกรอบวงเงินที่ครม.อนุมัติแต่อย่างไรก็ตาม ต้องเสนอครม.พิจารณาไม่ว่าจะเป็นการปรับกรอบวงเงินหรือจำนวนรถ ประเภทรถ"พล.อ.อ.ประจินกล่าว
ด้านประธานคณะกรรมการบริหาร ขสมก. กล่าวว่า ในการจัดหารถเมล์ NGV จำนวน 489 คันขณะนี้การประกวดราคาเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลได้เนื่องจากมีการร้องเรียนไปที่นายกรัฐมนตรี ดังนั้นตนจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนโดยพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งยอมรับว่าต้องเร่งรัดแต่ต้องเป็นไปตามระเบียบและมีความถูกต้อง ยืนยันว่าจะยังไม่มีการลงนามสัญญาจนกว่าทุกฝ่ายจะพอใจในความถูกต้องและสร้างความชัดเจน จึงขอเวลาตรวจสอบอีกสักระยะ