ทั้งนี้ การดำเนินโครงการวางแผนพลังงานชุมชน ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันพบว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่เข้าร่วมแล้ว 1,243 แห่ง โดยคนในชุมชนเข้าร่วมอย่างน้อย 300 คนต่อชุมชน หรือมีคนเข้าร่วมสูงถึง 328,500 คน รวมทั้งเกิดอาสาสมัครพลังงานชุมชนหรืออสพน. แล้วกว่า 6,000 คน ที่จะช่วยกันต่อยอดความรู้เพื่อเผยแพร่ไปยังชุมชนต่างๆ ต่อไป
นอกจากนี้ การวางแผนพลังงานระดับชุมชน ที่ผ่านมา ยังช่วยให้เกิดการสร้างอาชีพด้านพลังงานจำนวน 18 กลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มผลิตเตาเศรษฐกิจประยุกต์ เตาชีวมวล เตาย่างไร้ควัน เตาซุปเปอร์อั่งโล่ รับติดตั้งบ่อแก๊สชีวภาพ ระบบโซล่าเซลล์เพื่อสูบน้ำ การสร้างตู้อบแห้งแสงอาทิตย์ เป็นต้น รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนลดใช้พลังงานทั่วประเทศ ที่เบื้องต้นพบว่าเกิดการลดใช้พลังงานในการผลิตได้กว่า 20 – 60% และได้ต่อยอดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านพลังงานประจำชุมชนได้กว่า 258 แห่ง รวมทั้งได้เกิดการพัฒนาไปสู่ชุมชนที่สามารถผลิตพลังงานขนาดเล็ก จำนวน 72 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น
นายสราวุธ กล่าวเพิ่มว่า การวางแผนพลังงานชุมชนทีเกิดขึ้นจากชุมชนท้องถิ่น เช่น เทศบาลตำบล ชุมชนเล็กๆ ได้เกิดการพัฒนาและช่วยให้ชุมชนได้คัดเลือกใช้เทคโนโลยีทางเลือกด้านพลังงานที่เป็นทรัพยากรใกล้ตัว เช่น ส่งเสริมการสร้างบ่อแก๊สชีวภาพชุมชน จากมูลสัตว์ ของเสียในชุมชน เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) การส่งเสริมนำเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงไปใช้ในชุมชน ที่ใช้ชีวมวลของเหลือใช้ทางเกษตรเป็นเชื้อเพลิงแทนการตัดต้นไม้สำหรับทำถ่าน การสร้างความรู้ให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งการวางแผนพลังงานชุมชนเหล่านี้ พบว่า ช่วยให้ประชาชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเฉลี่ย 2,000 บาทต่อครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เกิดขึ้น