รวมทั้งนายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 มีหน้าที่บริหารและบังคับบัญชาข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ดังกล่าว มีหน้าที่ในการตรวจสภาพกิจการและตรวจคืนภาษีแวตของกลุ่มบริษัททั้ง 7 ราย และต้องมีการตรวจสอบสำนวนเพื่ออนุมัติคืนหรือไม่คืนภาษีดังกล่าว แต่กลับมิได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยทั้ง 2 รายไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ข้าราชการกรมสรรพากรระดับซี 9 ออกจากราชการอีก 1 ราย คือ นายกู้ศักดิ์ จันทราช สรรพากรพื้นที่ยโสธร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการสรรพากรเชี่ยวชาญปฏิบัติข้าราชการในหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 ซึ่งได้มีการอนุมัติให้ยุติการสอบยันใบกำกับภาษีซื้อของผู้ประกอบการที่อ้างว่ามีการขายสินค้า และได้แจ้งผลการสอบยันใบกำกับภาษีไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ส่งผลให้มีการนำผลการสอบยันไปใช้ในการคืนภาษีแวตให้แก่บริษัททั้ง 7 รายที่กระทำการขอคืนภาษีโดยทุจริต โดยยังให้นายกู้ศักดิ์ได้รับบำเหน็จบำนาญต่อได้
ทั้งนี้ เดือนที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ไล่ออกข้าราชการระดับซี 9 ของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปแล้ว 1 ราย คือ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ(ชื่อเดิมนายศุภกิจ ริยะการ)
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ยังมีข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับโกง VAT ครั้งนี้อีก 14 คน ซึ่งเป็นข้าราชการของกรมสรรพากรที่ระดับต่ำว่าซี 9 ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการสอบผิดวินัยร้ายแรง คาดว่าจะส่งรายงานให้กระทรวงการคลังรับทราบในไม่ช้านี้
"กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตทั้งในส่วนของกรมภาษี และหน่วยงานอื่น ซึ่งจะมีมาตรการออกมาป้องกันต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล" นายสมหมาย กล่าว
ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะต้องตั้งคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ประทำความผิดทั้งหมดที่ทำความเสียหายให้กับประเทศ สำหรับการดำเนินการเอาผิดทางอาญาเป็นส่วนที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด